ไม่พบผลการค้นหา
มีความชัดเจนมากขึ้นถึงบทบาท ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ใน ‘ครม.ตู่รีเทิร์น’ ที่จะเหลือเพียง รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และนั่งเป็น ประธาน ก.ตร. ในการดูแลกิจการตำรวจต่อไป

แม้ ‘บิ๊กตู่’ จะนั่งควบ รมว.กลาโหม แต่ก็เชื่อกันว่ายังคงอยู่ภายใต้เงาของ พล.อ.ประวิตร โดยมี ‘บิ๊กช้าง’ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็น รมช.กลาโหม อีกครั้ง

หลัง พล.อ.ประวิตร ระบุถึงการลดภาระงาน ว่า “ก็เห็นสภาพอยู่แล้วนี่ มันแย่”

ถือเป็นการตอกย้ำถึงสุขภาพอีกครั้ง หลัง พล.อ.ประวิตร ระบุถึงสุขภาพขามาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง เพราะคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ต่างระบุตรงกันว่า ต้องการให้นายได้พักและดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นความฟิตของนายเอง ที่ผ่านช่วงปัญหาสุขภาพหนักๆมาได้หลายครั้ง

พร้อมกันนี้ระบุว่า ตนเป็น รมว.กลาโหมมาแล้ว 8 ปี ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ 3 ปี และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 5 ปี เมื่อสื่อแซวว่า อยู่ให้ครบ 10 ปี อีกเพียง 2 ปี พล.อ.ประวิตร ถึงกับบอกว่า “เห้ย พอแล้ว”

ทั้งนี้การเหลือแต่เก้าอี้รองนายกฯ ก็จะทำให้ พล.อ.ประวิตร มีเวลาดูแลสุขภาพมากขึ้น

แม้จะไม่มี ‘บารมี’ เท่าเดิม เพราะตำแหน่งหายไป 1 ตำแหน่ง ไม่ได้คุมกองทัพเช่นเดิม

แต่ก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ มาคุมแทน ซึ่งทั้งคู่ต่างสายตรงและมองตาก็รู้ใจ

แน่นอนว่าพล.อ.ประวิตรยังคงดูแลกองทัพอยู่ ‘เบื้องหลัง’ แทน ในห้วงยุคใหม่ของกองทัพที่โครงสร้างและดุลอำนาจเปลี่ยนไป ซึ่งทั้ง พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร ก็ต่างมีข้อจำกัดในการตัดสินใจเรื่องในกองทัพ

แต่ปึกแผ่นระหว่างกองทัพกับรัฐบาลยังคงเป็นเอกภาพ

ประวิตร

แม้กองทัพจะสงวนท่าทีต่อรัฐบาล เพราะกองทัพองก็วางตัวนิ่งมากขึ้น ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพ ต่างหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง

แม้จะมีการออกมาพูดเรื่องการเมืองโดย 'บิ๊กแดง'พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก่อนหน้านี้

รวมทั้งปรากฏการณ์เพลงหนักแผ่นดิน-กิเลสมนุษย์ ที่เป็นกระแสในสังคมอย่างมาก เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ อย่างที่ทราบกันคือมี ‘สถานะสำคัญ’ อยู่ด้วย โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในการจัดตั้งรับบาล พล.อ.อภิรัชต์ ก็หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง

แม้สื่อจะพยายามถามว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไปใช่หรือไม่ แต่ พล.อ.อภิรัชต์ กลับย้ำคำว่า ‘รัฐบาล’ แทนคำว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ว่า “กองทัพสนับสนุนรัฐบาล เพราะกองทัพเป็นของรัฐบาลทุกชุด”

ในสภาวะที่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่แล้วเสร็จ

อีกทั้งมีรอยร้าวในพรรคพลังประชารัฐที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้าไปเคลียร์ ถึงขั้นต้องออกสารนายกฯ ขอโทษประชาชน ถือเป็นการยอมรับถึงความขัดแย้งภายในพรรคว่าเกิดขึ้นจริง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทราบดีถึงปัญหาการจัดการในพรรค เนื่องจากเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นใหม่​ สมาชิกมาจากหลายกลุ่ม-หลายสาขา

แต่สิ่งที่ถูกจับมาเป็นประเด็นคือมีการตีความข้อความตอนหนึ่งว่า “เพื่อมิให้การดำเนินการทางการเมืองกลับไปเป็นปัญหาเช่นเดิม จนต้องเกิดการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ที่ทุกคนไม่ต้องการขึ้นมาอีก” ทำให้มีการตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังพูดถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 หรือไม่ หรือการส่งสารครั้งนี้จะเป็นการ ‘ขู่ปฏิวัติ’ หรือทำ ‘รัฐประหารตัวเอง’

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาชี้แจงว่า "ในเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการปฏิวัติซ้อน ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แม้กระทั่งผมเองที่ทำมา ผมก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ในวันนั้น ผมก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เราจึงควรกลับมาแก้ปัญหาที่ถูกวิธีจะดีกว่า”

รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร ออกมาระบุว่า “โห...ไม่หรอก ไม่มีแล้วนะ”

ประยุทธ์ อภิรัชต์

แน่นอนว่าในเวลานี้การ ‘ปฏิวัติซ้ำ-รัฐประหารซ้อน’ จะเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยบริบทต่างๆที่ยังไม่ ‘สุกงอม’ เพียงพอ

เพราะเป็นเพียงความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็เคลียร์ลงตัวในเก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว แม้จะใช้ระยะเวลากว่า 3 เดือนก็ตาม ปัจจัยทางการเมืองจึงยังไม่สุกงอมพอจะทำให้ต้องใช้‘ยาแรง’แก้ปัญหา อีกทั้งจะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทราบเรื่องนี้ดี

แต่สถานการณ์ในอนาคต ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าการ ‘ปฏิวัติ-รัฐประหาร’ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ? โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ขั้วเพื่อไทยกลับมามีอำนาจอีกครั้ง

จาก ‘ปรากฏการณ์บิ๊กเซอร์ไพรส์’ช่วง ก.พ.-เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ทำให้เห็นมิติทางการเมืองและดุลอำนาจที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ก็มีการมองว่าการปฏิวัติ-รัฐประหารในอนาคต อาจ ‘ซ่อนรูป’ มากขึ้น

หรือที่เรียกว่า ‘รัฐประหารครึ่งใบ’ นั่นเอง ที่ส่งสัญญาณออกมาหรือกระทำผ่านกลไกต่างๆ

อีกทั้งมีการมองว่าหากเกิดวิกฤติกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในอนาคต จะมีทางออกอย่างไร หรือจะต้องมี ‘ทางออกพิเศษ’ เกิดขึ้นอีก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต ก็มีความไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ รวมทั้งสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีตำแหน่งใดรองรับหรือไม่ และจะมี ‘พระเอกคนใหม่’ ขึ้นมาแทนหรือไม่

สมพงษ์

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยก็อยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ โดยมีการจับตาว่า ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ จะนั่ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเพื่อรับบทผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

และ ‘น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ’ เป็น เลขาธิการพรรค

รวมทั้งบทบาทของ ‘หญิงหน่อย’สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่กำลังถูกจับตามองในเวลานี้ด้วย รวมทั้งการจัดทัพของพรรคเพื่อไทยที่จะแก้เกมในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีปรากฏการณ์แบบพรรคไทยรักษาชาติอีกหรือไม่

แม้จะจบกับปัญหาในการตั้งรัฐบาล แต่ยังมีปัญหาอื่นๆรอ พล.อ.ประยุทธ์ ในอนาคต ภายใต้สภาวะสภาปริ่มน้ำ ที่พรรคฝ่ายรัฐบาลก็ต่างเตรียมแก้เกมในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า เพราะต่างหวังกลับมามีบทบาทนำในการจัดตั้งรัฐบาล

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์แม้จะได้ชื่อว่า ‘เขี้ยวลากดิน’ แต่ก็มาพร้อมสภาวะ ‘กลืนเลือด’ ไม่น้อย และมีภารกิจกอบกู้ศักดิ์ศรีพรรคกลับคืนมาอยู่

อีกทั้งพรรคพลังประชารัฐก็มีบทพิสูจน์สำคัญคือจะเป็นเพียง ‘พรรคเฉพาะกิจ’ ตามคำครหาหรือไม่ พร้อมจับตาการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองหรือไม่ ที่อยู่ระหว่างการปรึกษาทีมกฎหมาย หรือสุดท้ายแล้วจะเป็น ‘ผู้บารมีนอกพรรค’ เช่นนี้ต่อไป

ระวังไว้ ‘สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน’ !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog