ไม่พบผลการค้นหา
ผู้บัญชาการฝ่ายกลาโหมของหลายชาติในแอฟริกาตะวันตก ได้วางแผนสำหรับการเข้าแทรกแซงทางทหารที่เป็นไปได้ เพื่อทำปฏิบัติการย้อนกลับรัฐประหารในไนเจอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงการวางแผนถึงวิธีการและเวลา ที่จะมีส่งกองกำลังบุกเข้าไปยังไนเจอร์ เพื่อฟื้นฟูการปกครองของผู้นำพลเรือนกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) จะไม่เปิดเผยแผนการเข้าแทรกแซงไนเจอร์ต่อผู้วางแผนรัฐประหาร ว่าพวกเขาจะเข้าโจมตีเมื่อใดและที่ไหน แต่ อับเดล-ฟาเตา มูซาห์ กรรมาธิการกิจการการเมือง สันติภาพ และความมั่นคงของ ECOWAS กล่าวเมื่อวันศุกร์ (4 ส.ค.) ว่า การตัดสินใจใดๆ จะดำเนินการโดยประมุขแห่งรัฐของ ECOWAS

“องค์ประกอบทั้งหมดที่จะนำไปสู่การแทรกแซงในท้ายที่สุด ได้รับการพิจารณาแล้วที่นี่ รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็น วิธี และเวลา ที่เราจะส่งกองกำลัง” มูซาห์กล่าวในช่วงปิดการประชุม 3 วัน ณ กรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย ภายหลังจากการทำรัฐประหารในไนเจอร์

ECOWAS ประกาศว่าทางกลุ่มได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อไนเจอร์แล้ว และกล่าวว่าทางกลุ่มสามารถอนุญาตให้มีการใช้กำลังได้ หากผู้นำรัฐประหารไนเจอร์ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับ มูฮาเหม็ด บาซูม ประธานาธิบดีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ภายในวันอาทิตย์นี้ (6 ส.ค.)

ECOWAS ซึ่งมีสมาชิก 15 ชาติ ได้ส่งคณะผู้แทนไปยังไนเจอร์เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ส.ค.) เพื่อขอให้ผู้นำรัฐประหารไนเจอร์หา “ข้อยุติฉันมิตร” แต่แหล่งข่าวในคณะผู้ติดตามกล่าวว่า การหารือบริเวณสนามบินไนเจอร์กับตัวแทนของกองทัพไนเจอร์ ไม่ได้ก่อให้เกิดความคืบหน้าใดๆ “เราต้องการให้การทูตทำงาน และเราต้องการให้ข้อความนี้ส่งถึงพวกเขาอย่างชัดเจนว่า เรากำลังให้โอกาสพวกเขาทุกวิถีทาง ในการแก้ไขสิ่งที่พวกเขาทำลงไป” มูซาห์กล่าว

โบลา ทินูบู ประธานาธิบดีไนจีเรีย ได้ระบุผ่านหนังสือที่แจ้งต่อวุฒิสภาของไนจีเรียว่า เขาแจ้งแก่รัฐบาลไนจีเรีย ให้เตรียมความพร้อมสำหรับทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการส่งกำลังพลเข้าไปยังไนเจอร์ นอกจากนั้ ผู้นำเซเนกัลยังกล่าวอีกว่าพวกเขาจะส่งทหารเข้าไปในไนเจอร์ ทั้งนี้ คณะรัฐประหารของไนเจอร์ประณามการแทรกแซงจากภายนอก และกล่าวว่าพวกเขาจะต่อสู้กลับ

อับดูราห์มาเน ชีอานี ผู้นำการรัฐประหารไนเจอร์วัย 59 ปี เคยทำหน้าที่เป็นผู้บังคับกองพันของกองกำลัง ECOWAS ระหว่างความขัดแย้งในไอวอรี่โคสต์เมื่อปี 2546 ส่งผลให้เขารู้ว่าปฏิบัติการของ ECOWAS จะดำเนินการในลักษณะใด ทั้งนี้ การรัฐประหารในไนเจอร์นับเป็นการยึดอำนาจทางทหารครั้งที่ 7 ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปีที่เกิดขึ้นในประเทศบนภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง

ทั้งนี้ คณะรัฐประหารไนเจอร์ได้รับการสนับสนุน จากผู้นำทางทหารในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาลี และบูร์กินาฟาโซ ซึ่งต่างเป็นสมาชิกของ ECOWAS ทั้งนี้ การที่มาลีและบูร์กินาฟาโซ ยังเป็นสมาชิกของ ECOWAS อาจบั่นทอนการตอบสนองต่อการทำรัฐประหารในไนเจอร์ได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองประเทศกล่าวว่าพวกเขาจะเข้ามาปกป้องไนเจอร์ หากกองกำลังของชาติสมาชิก ECOWAS ยกทัพเข้าพรมแดนของไนเจอร์

ผู้นำการรัฐประหารสั่งปิดพรมแดนของไนเจอร์ เมื่อช่วงวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากพวกเขาประกาศปลดบาซูม ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งออกจากอำนาจ อย่างไรก็ดี พรมแดนไนเจอร์กลับมาเปิดอีกครั้งในอีก 5 วันต่อมา ทั้งนี้ ไนเจอร์มีพรมแดนติดกับ 7 ประเทศในแอฟริกา รวมถึงลิเบีย ชาด และไนจีเรีย ในขณะที่สหรัฐฯ และอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมองว่า ไนเจอร์เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการจัดการกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก

ไนเจอร์เป็นผู้รับความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในแอฟริกาตะวันตก โดยประเทศแห่งนี้ได้รับเงินประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท) นับตั้งแต่ปี 2555 นอกจากนี้ ไนเจอร์ยังมีฐานทัพรองรับกองทหารของชาติตะวันตกมากกว่า 2,000 นาย โดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ทั้งนี้ นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร ชาติตะวันตกหลายชาติได้ยกเลิกความช่วยเหลือและข้อตกลงความร่วมมือกับไนเจอร์ทันที

ไนเจอร์ยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อจีน ยุโรป และรัสเซีย เนื่องจากประเทศแห่งนี้อุดมไปด้วยแร่ยูเรเนียมและน้ำมันอันสมบูรณ์ ตลอดจนการที่ไนเจอร์มีบทบาทสำคัญ ในการทำสงครามกับกลุ่มกบฏในภูมิภาคซาเฮล

ปัจจุบันนี้ บาซูมในวัย 63 ปี ซึ่งได้รับเลือกตั้งในปี 2564 ถูกควบคุมตัวอยู่ในทำเนียบประธานาธิบดีไนเจอร์ ในกรุงนีอาเม เมืองหลวงของประเทศ โดยเขาเผยแพร่ข้อเขียนผ่านหนังสือพิมพ์ The Washington Post เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหารว่า เขาเป็นตัวประกันที่ต้องการความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และนานาชาติ “หาก (การรัฐประหาร) สำเร็จ มันจะส่งผลร้ายแรงต่อประเทศของเรา ภูมิภาคของเรา และทั้งโลก”


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/8/4/west-african-leaders-make-plan-for-military-intervention-in-niger?fbclid=IwAR3qYaXZtZRf41GysF-DCacThrhSxPG0gGcrt-6MddmMHmt-y2kz3hWNBHs