วอยซ์ เดินทางสู่คาเฟ่ย่านเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา พูดคุยกับ เกณิกา อุ่นจิตร์ หรือ ผึ้ง วัย 39 ปี ผู้สมัคร ส.ส. สระบุรี เขต 3 พื้นที่ อ.หนองแค อ.วิหารแดง อ.หนองแซง อ.หนองโน พรรคพลังประชารัฐ และหนึ่งในทีมโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เธอบอกว่า จุดเริ่มต้นของความสนใจในการเมืองเกิดขึ้นเมื่อครั้งเธอยังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ การเรียนในรายวิชาว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมถึงจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ชวนให้เธอตั้งคำถามว่า ทำไมการเมืองถึงสามารถครอบงำการทำงานของสื่อได้ เช่น การที่ผู้มีอำนาจสามารถปิดกั้นการนำเสนอข่าวบางประเด็นไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
ประกอบกับห้วงเวลาขณะที่เธอเรียนอยู่ เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ขึ้น ทำให้เธอได้เห็นรถถังของกองทัพขับผ่านด้านหน้ามหาวิทยาลัยของเธอ พร้อมประชาชนที่ออกมามอบดอกไม้ให้กำลังใจพลทหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งเธอยอมรับว่ารู้สึกประหลาดใจ และมีความเข้าใจโดยผิวเผินว่า สาเหตุที่คนบางส่วนเห็นด้วยกับการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลอาจเป็นเพราะ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น อยู่ในอำนาจมานาน ประชาชนจึงออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี แม้การรัฐประหารได้จบสิ้นไป แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนหลากหลายกลุ่มกลับเริ่มต้นขึ้น อาทิ คนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง และต่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นใหม่หลังจากนั้น ประเทศไทยก็ยังกลับเข้าสู่วงจรการทำรัฐประหาร มีขบวนการขัดขวางการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2557 เธอจึงรู้สึกว่า การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น รวมถึงการไม่เคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน นอกจากจะส่งผลให้ความขัดแย้งในสังคมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้ประเทศไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงด้วย
หลังจากนั้น เธอเลือกที่จะเรียนต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาโท 2 ใบ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ควบคู่กับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในที่สุด สำหรับประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา เธอเป็นอดีตผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร มาก่อน รวมถึงเคยเป็นผู่ก่อตั้งและผู้บริหารธุรกิจซาลอนสำหรับเด็กและครอบครัวชื่อดังที่มีความจำเป็นต้องปิดตัวลงเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก
ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับธุรกิจที่กำลังไปได้ดีของเธอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจลงมือทำงานการเมืองอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากการทำงานกับพรรคไทยสร้างไทยช่วงปี 2564 ทว่าเธอเลือกที่จะลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัวในภายหลัง และเมื่อเข้าสู่ช่วงไร้สังกัดพรรค เธอจึงมีโอกาสลุยทำโครงการช่วยเหลือประชาชนของเธอ ชื่อว่า “อาสาพลังผึ้ง” อย่างเต็มตัวอยู่ประมาณ 2 เดือน มุ่งเน้นให้การช่วยเหลือกลุ่มเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ที่ประสบปัญหาคุณภาพชีวิตในหลายมิติ อาทิ การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยผู้ใช้ยาเสพติด หรือการหาตลาดเพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของกลุ่มคนเหล่านี้ ก่อนที่จะเปิดตัวร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2565
เธอยอมรับด้วยว่า ในช่วงของการพูดคุยก่อนเริ่มงาน เธอยังไม่เปิดใจให้กับพรรคเท่าที่ควร แต่เมื่อได้ติดตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ก็ได้เห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ผ่านหน้าสื่อว่า พล.อ.ประวิตร คือผู้ติดต่อประสานงานให้แต่ละหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนในหลายๆ เรื่องด้วยตนเองจริงๆ โดยไม่ได้ร้องขอให้ทีมโฆษกพรรคทำข่าวเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด จึงรู้สึกว่าเป็นแนวทางในการทำงานที่ตรงจริตกับตัวตนของเธอ น่าจะสามารถร่วมงานกันได้
อย่างไรก็ดี การที่ พล.อ.ประวิตร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และความจริงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่อย่างเธอที่เพิ่งย้ายสังกัดพรรคการเมือง รวมถึงต่อความเป็นไปได้หลังการเลือกตั้งที่มีการคาดคะเนว่าจะเกิดการรัฐประหารอีกหรือไม่ ซึ่งเธอเชื่อว่า ประชาชนไม่มีทางยอมรับให้มีการรัฐประหารล้มการเลือกตั้งขึ้นอีกแน่นอน เพราะต้นทุนที่คนไทยต้องเสียไปคือ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาธิปไตยที่ถอยหลัง โอกาสในการเจริญเท่าทันนานาชาติที่หายไป ประเทศไทยบอบช้ำมามากพอแล้ว
ทั้งนี้ เธอยืนยันว่า ทุกพรรคย่อมมีสิ่งที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จึงเป็นโอกาสสำหรับทุกคนในการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคที่ชอบ และเลือกคนที่ใช่ ดังนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร เธอก็ยอมรับ เพราะไม่ว่าเธอจะแพ้หรือชนะในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ คำวิจารณ์ต่างๆ ที่ตามมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็หวังว่าจะประชาชนจะให้โอกาส และมองเห็นถึงความตั้งใจ โดยเธอไม่คิดที่จะเปลี่ยนความคิดใคร และยินดีเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของเธออย่างเสรี เพราะทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ซึ่งเสรีภาพก็ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบด้วย
หากเราตัดสินใจแล้วว่าจะไปอยู่ที่ไหน เราก็ยึดมั่น เชื่อว่าคนที่ติดตามการทำงานของเราตลอด เขามองออกว่าตัวตนของเราเป็นยังไง เราตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประชาชนตั้งแต่แรก เราไม่มีอะไรจะเสียถ้าประชาชนได้ประโยชน์ เพราะเราเข้าใจว่านักการเมืองทำอะไรก็ถูกด่าได้ง่าย
ภาพ : วิทวัส มณีจักร