บทความชิ้นล่าสุดจาก 'ภาคภูมิ จตุพิธพรจันทร์' และ 'ไตรสรณ์ ถีรชีวานนท์' สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า วิกฤตใหญ่ที่มาพร้อมกับโควิด-19 คือปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชากรไทยที่ย่ำแย่ลง โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางที่ยากจนหรือด้อยโอกาสอยู่ก่อนแล้ว
เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายตั้งแต่แรก กันชนทางการเงินหรือเงินสำรองเพื่อรับมือกับการขาดรายได้จึงน้อยกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและมาตรการเยียวของภาครัฐที่ไม่ทั่วถึง
ปัจจัยข้างต้นส่งผลอย่างยิ่งต่อประชากรยากจนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน เนื่องจากที่ผ่านมาหลายโรงเรียนปรับไปใช้การเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งเรียกร้องให้เด็กนักเรียนต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งครอบครัวที่มีรายได้น้อยไม่อาจจัดหาเครื่องมือเหล่านั้นให้บุตรหลานของตนเองได้ จนนำไปสู่การขาดโอกาสในการศึกษา
ขณะเดียวกันนักวิจัยยังชี้ว่า ประชากรที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางการเงินยังเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพอ่อนแอที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ปานกลางหรือสูง เพราะตามปกติแล้ว กลุ่มคนรายได้น้อยมักเข้าไม่ถึงอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ยากลำบากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ทั้ง ‘ภาคภูมิ’ และ ‘ไตรสรณ์’ เสนอว่า รัฐบาลควรเข้าไปจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในมิติเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อให้ประชากรไทยเติบอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) โดยเริ่มจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เพื่อทำให้มั่นใจว่าประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจะสามารถเข้าถึงการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการพัฒนาบุคลกรทางการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทเพื่อไม่ให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลต้องเผชิญกับความแตกต่างเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนเมื่อเทียบกับเด็กในเมืองหลวงหรือตามเมืองใหญ่ต่างๆ
จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยตกหล่นความช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งยังเข้าไม่ถึงความคุ้มครองทางสังคม นักวิจัยทั้งสองจึงเสนอให้รัฐบาลกลับมาพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมให้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาคมากขึ้น
สำหรับ 3 ข้อแนะนำสุดท้าย คือระบบการเข้าถึงสถาบันทางการเงินต้องปรับปรุงให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กและกลางมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แต่รายใหญ่ รวมไปถึงต้องมีการปฏิรูประบบผูกขาดในตลาด และออกกฎหมายให้เอกชนสามารถแข่งขันทางการค้าได้อย่างแท้จริง
ท้ายที่สุด ไทยต้องปรับปรุงระบบภาษีให้มีการกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบันที่มีช่องโหว่ให้ผู้มีรายได้สูงจำนวนมากไม่ต้องจ่ายภาษีในหลายประเภท อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีที่เอื้อผู้มีรายได้สูง หรือมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินในปัจจุบัน