ที่รัฐสภา กรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หารือกรณีกลุ่มบุคคลร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกักตุนและลักลอบนำหน้ากากอนามัย ส่งไปขายยังต่างประเทศ โดยมีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้าให้ข้อมูล
จากเดิมจะเป็นการประชุม กมธ.ชุดใหญ่ แต่องค์ประชุมไม่ครบ มาเพียง 4 คนคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ,น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ,นายธีรัจชัย พันธุมาศ และนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ จึงถือเป็นการหารือ
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวระหว่างเชิญนายอัจฉริยะเข้าให้ข้อมูล ว่า น่าเสียดายที่วันนี้มีกรรมาธิการ มาเพียง 4 คนจึงไม่ครบองค์ประชุม จึงเป็นการหารือเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนที่สุด เพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ซึ่งความจริงแล้วใช้เพียง 5 เสียงหรือ 1 ใน 3 ของ กมธ.ทั้งหมดก็จะครบองค์ประชุม และลงมติได้ โดยเหตุที่ไม่ยกเลิกการหารือวันนี้เนื่องจากมี กมธ.อีก 2-3 คนรับปากว่าจะมาแต่สุดท้ายก็ไม่มาประชุมตามกำหนดการ พร้อมกันนี้กล่าวขอบคุณและชื่นชมนายอัจฉริยะ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นประชาชนไม่จำเป็นต้องมาก็ได้แต่ยังให้ความร่วมมือในครั้งนี้
นายอัจฉริยะ เข้าให้ข้อมูลโดยชี้ให้เห็นถึงข้อพิรุจและส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ผู้ค้า ของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยออกประกาศหลายฉบับ ซึ่งในฐานะนักกฎหมายมองว่าไม่มีอำนาจที่จะออกประกาศเป็นกฎหมาย ที่สำคัญในประกาศฉบับที่ 9 มีการยกเลิกประกาศก่อนหน้า ที่ให้โรงงานส่งสต๊อกสินค้ารายเดือน โดยให้เปลี่ยนเป็นส่งสต๊อกและปริมาณการผลิตเป็นรายวันแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีบริษัทไหนส่งสต๊อกสินค้าเลยข้อมูลนี้จึงไม่อยู่ในกรมการค้าภายใน อีกทั้งการลงนามคำสั่งทั้งห้ามกักตุน ห้ามส่งออก การชี้แจงต่อสื่อมวลชนและประกาศในราชกิจจานุเบกษาจากนั้นหลายวัน ทำให้พ่อค้ารู้ก่อน จึงเกิดการกักตุน ลักลอบขายทั้งในตลาดมืดและช่องทางออนไลน์ในราคาที่สูง
นายอัจฉริยะ ยังแสดงหลักฐานยืนยันว่า วันที่ 30 ม.ค. 2563 ที่นายจุรินทร์ ได้เข้าไปตรวจโรงงานและได้ยืนยันถึงสต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นวัตถุดิบอย่างที่นายจุรินทร์ระบุในภายหลัง จึงถือเป็นการโกหกคนไทยทั้งประเทศ