โลกยังคงจับตาโศกอนาฏกรรมการกราดยิงในนครแอตแลนตาของมลรัฐจอเจียในสหรัฐฯ เมื่อเย็นวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย โดย 6 รายคือผู้มีเชื้อสายเอเชีย ซึ่งนี่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ยกระดับความกังวลมากยิ่งขึ้นให้กับสังคมชาวเอเชียนอเมริกัน ที่ตอนนี้นอกจากจะต้องระวังภัยในฐานะบุคคลจากการถูกคุกคามเพราะสาเหตุจากการเหยียดเชื้อชาติแล้ว ภาคธุรกิจก็ได้เริ่มเตรียมเฝ้าระวังถึงเหตุความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย
ในวันที่ 16 มี.ค. ราว 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ผู้ก่อเหตุซึ่งภายหลังถูกจับกุมแล้วชื่อ โรเบิร์ต แอรอน ลอง ชายหนุ่มวัย 20 ปี ก่อเหตุกราดยิงในร้าน Young's Asian Massage ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองวูดสต๊อกของจอร์เจีย มีผู้เสียชีวิตทันที 2 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 2 ราย และได้รับบาดเจ็บ 1 คน ต่อมาเพียงหนึ่งชั่วโมงราว 18.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 3 รายที่ Gold Massage Spa และ 1 รายในร้าน Arpmatherapy Spa ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองแอตแลนตา
โรเบิร์ต แอรอน ลอง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวได้ในที่สุดหลังการก่อเหตุในสปาทั้ง 3 แห่ง พร้อมถูกตั้งข้อกล่าวหาฆาตรกรรมทั้งสิ้น 8 กระทง โดยโรเบิร์ตให้การปฏิเสธว่าแรงจูงใจของเขา "ไม่มีความเกี่ยวข้องกับด้านเชื้อชาติ" ตรงกันข้าม เขาให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเขามีภาวะ "เสพติดการมีเพศสัมพันธ์" ที่ผ่านมาเขาเข้าใช้บริการในสปาบ่อยครั้ง และการก่อเหตุครั้งนี้ทำไปเพื่อ "การแก้แค้น" และเพื่อการ "กำจัดความต้องการของตน"
"ไม่ว่าแรงจูงในในการก่อเหตุของชายผู้นี้จะเป็นอะไร เราทราบดีว่าเหยื่อส่วนใหญ่ในกรณีนี้คือผู้มีเชื้อสายเอเชีย และเราทราบดีว่านี่คือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ มันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ มันคือความเกลียดชังที่ต้องหยุดเสียที" ผู้ว่าการเคชา แลนช์ กล่าว
ในวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการทำร้ายผู้สูงวัยชาวเอเชียนอเมริกันสองคนที่ตลาดแห่งหนึ่งในนครซานฟรานซิสโก เป็นชายวัย 83 ปี และหญิงวัย 75 ปี ทั้งคู่ถูกคนไร้บ้านทำร้ายโดยการต่อยเข้าที่หน้า ขณะที่ผู้ก่อเหตุถูกจับกุมตัวทันที เป็นเหตุให้ขณะนี้ทางการพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศเพิ่มการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชุมชนชาวอเชียซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในซานฟรานซิสโก หนึ่งในเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ
นักแสดงชื่อดังเชื้อสายเอเชียจากฝั่งฮอลลีวูดมากมายออกโรงประณามการก่อเหตุรุนแรงต่อต้านชาวอเมริกันเชื้อสายอเมริกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เจมมา ชาน, มาร์กาเร็ต โช, ลิน-มานูเอล มิแรนดา, ชอนดา ไรมส์, แดเนียล แด คิม, จอร์จ ทาเคอิ และอื่นๆ อีกมากมายที่ออกมาวิจารณ์อย่างเปิดเผยผ่านการติดแฮชแทก #StopAsianHate
เจมมา ชาน นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Crazy Rich Asians และจักรวาล Marvel กล่าวว่า "ขอให้ทุกคนสนใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น การเหยียดเชื้อชาติและการเกลียดชังผู้หญิงนั้นเป็นการใช้ความรุนแรงที่หลายคนต้องเผชิญอยู่เสมอ เราต้องหยุดการลดทองคุณค่าความเป็นมนุษย์ของชาวเอเชียเพียงเพราะมีการระบาดของโควิด เราต้องร่วมมือกันต่อสู้กับความเกลียดชังทุกรูปแบบ มาช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ ถามไถ่ความเป็นอยู่ของเพื่อนๆเชื้อสายเอเชียของคุณเพราะเราไม่โอเคกับสิ่งนี้ ให้ความรู้กับตัวเองและคนรอบข้างเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆเรื่องชนกลุ่มน้อย และประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย... ขอร้องล่ะ อย่าเงียบเลย"
ทั้งนี้ รายงานที่ถูกเปิดเผยโดย Stop AAPI Hate ระบุว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 การก่อเหตุคุกคามชาวเอเชียนอเมริกันที่ถูกยืนยันว่ามีแรงจูงใจในประเด็นเชื้อชาตินั้นถูกรายงานทั้งสิ้น 3,795 คดี พร้อมย้ำว่าตัวเลขที่ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น เพราะอีกหลายคดียังไม่ได้รับการรายงาน
หลังการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา อัตราการการเหยียดเชื้อชาติและการทำร้ายร่างการชาวเอเชียนอเมริกันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งมากกว่าสถานการณ์ในปีก่อนหน้าหลายเท่าตัว โดยกรมตำรวจของนครนิวยอร์ก หรือ NYPD เปิดเผยว่า 'อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง' ซึ่งมีต้นเหตุจากความเกลียดชังและการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียนอเมริกันในพื้นที่ของนครนิวยอร์กนั้นพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 1,900% ในปี 2563 จนนำมาสู่การลงถนนประท้วงในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ
แคมเปญต่อต้านความรุนแรงและการใช้ความเกลียดชังต่อชาวเอเชียนอเมริกันและแปซิฟิก (Asian American and Pacific Islander) ซึ่งเรียกว่า "Stop AAPI Hate" ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 19 มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 เพื่อตอบโต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเหยียดเชื้อชาติและความรุนแรง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวสารถึงกรณีการทำร้ายและใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจาก โรคการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) และพฤติกรรมการแสดงความเห็นหรือความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล (Bigotry) ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 19 มี.ค. - 31 ธ.ค. 2563 มีรายงานกรณีการเหยียดเชื้อชาติต่อชาวเอเชียนอเมริกันมากถึง 2,808 ครั้ง
TIME ชี้ว่า เหตุความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมายังปี 2564 ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีประณามการต่อต้านเชื้อชาติชาวเอเชียหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการก่อเหตุความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมความเกลียดชังอย่างต่อเนื่องในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยมีการก่อเหตุในพื้นที่ไชนาทาวน์ของเมืองโอกแลนด์ และเบย์แอเรียร์ของนครซานฟรานซิสโกในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นจุดที่มีความรุนแรงหนักและถูกจับตามอง
ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่สังคมเริ่มเผชิญกับพฤติกรรมการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia) ที่เพิ่มขึ้นคืออิทธิพลจากคำพูดของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักเรียก "โรคโควิด-19" ต่อหน้าสาธารณะว่า "ไวรัสจีน" (The China Virus) และมักกล่าวโทษจีนว่าเป็นต้นกำเนิดของการระบาดโควิด-19
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการที่อดีตผู้นำทำตามพฤติกรรมที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์อเมริกันมาช้านานตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 และ 20 ในการใช้เชื้อโรคสร้างความชอบธรรมให้กับการเหยียดเชื้อชาติและการเกลียดกลัวชาวเอเชีย ซึ่งพฤติกรรมในลักษณะนี้เองสร้างแนวคิดและความเข้าใจให้กับชาวอเมริกันจำนวนมากว่า 'ชาวเอเชียนอเมริกัน' คือ 'ชาวเอเชียวันยังค่ำ' เป็นชาวเอเชียที่ต้องมาจากเอเชีย ไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่งที่เกิด โต และใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีสัญชาติอเมริกัน