ในสายตาคนภายนอก การที่เทคโนโลยีใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ส่งของ สกู้ตเตอร์ไฟฟ้า หรือธุรกิจการแชร์รถโดยสารแบบไรด์แชร์ริง จะเข้ามาเติบโตในนครซานฟรานซิสโก หนึ่งในศูนย์กลางทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องง่ายๆ แท้จริงแล้วการเข้ามาของ 'เทคโนโลยีใหม่' เหล่านี้สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยีของเมืองนี้ไม่ใช่น้อย
Business Insider เปิดเผยว่า ล่าสุดทางการของนครซานฟรานซิสโก ได้ประกาศว่าจะมีการเปิดตัวสำนักงานเพื่อเทคโนโลยีใหม่ หรือ Office of Emerging Technology ที่คาดว่าน่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนธันวาคมนี้ โดยจะมีหน้าที่โดยตรงในการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ๆก่อนที่จะสามารถนำไปให้บริการกับประชาชนในชีวิตจริงบนท้องถนนได้
ต่อจากนี้ไป ก่อนที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะสามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือยานพาหนะด้านเทคโนโลยีเพื่อส่งไปยังลูกค้าหรือประชาชนในนครซานฟรานซิสโกได้ บริษัทเหล่านั้นจำเป็นจะต้องยื่นคำร้องต่อสำนักงานนี้ เพื่อขออนุญาตอย่างเป็นทางการ
โดยจะต้องเข้ารับการตรวจสอบในทุกมิติจากหลากหลายหน่วยงานด้านสาธารณะ จราจร และผังเมืองที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมตามกฎการจัดระเบียบใหม่ หากบริษัทใดฝ่าฝืน เปิดตัวสินค้าและบริการให้ประชาชนใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องถูกปรับอย่างน้อยวันละ 1,000 ดอลลาร์
นี่คือมาตรการที่สำคัญมากและควรเกิดขึ้นมานานแล้ว
ตลอดเวลาที่ผ่านมา นครซานฟรานซิสโกถูกใช้เป็นเหมือนกับสนามเด็กเล่นของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพมากมาย ที่เมื่อคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆขึ้นมาแล้วก็จะนำมาทดลองกับทั้งคนและพื้นที่ในเมืองตามใจชอบ โดยแทนที่จะขออนุญาตทางการอย่างถูกต้องเพื่อทดสอบเทคโนโลยีต่างๆ พวกเขาเลือกที่จะเดินหน้าทดสอบในพื้นที่สาธารณะ และมา 'ขอโทษ' ทางการและประชาชนภายหลังเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความไม่สะดวกใดๆขึ้น
2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าแรกๆที่นำเทคโนโลยีของพวกเขามาทดสอบการใช้งานในพื้นที่สาธารณะก็คือ Uber และ Lyft สองคู่ปรับซึ่งเป็นแถวหน้าของวงการสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆของโลก ในการให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถโดยสารแบบ 'ไรด์แชร์ริง' โดยเริ่มการทดสอบในช่วงปี 2011 แต่ปริมาณรถยนต์ที่ใช้ทดสอบเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อทั้งเจ้าหน้าที่และการจราจรในตัวเมืองของซานฟรานซิสโก
ต่อมาในปี 2016 บริษัทสตาร์ทอัพด้านการส่งของเดลิเวอร์รีบนทางเท้าด้วยหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า Marble ได้ก่อกำเนิดขึ้นและทำการทดสอบบนทางเท้าจริงตามเส้นทางต่างๆในเมือง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรีบเข้ามาจัดการอย่างเร่งด่วน เพราะหุ่นยนต์ที่ว่านี้สร้างปัญหาความวุ่นวายและความแออัดให้กับซานฟรานซิสโกอย่างมาก
ขณะที่อีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่ให้บริการในลักษณะคล้ายกันอย่างบริษัท Starship Technologies ก็ได้เริ่มทดสอบในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เลือกที่จะใช้เมืองอื่นๆในระยะที่ไม่ไกลมากจากซานฟรานซิสโก
หลังจากนั้นก็มียานพาหนะใหม่ตามมาภายใต้ชื่อ 'Scootergate'
ในปี 2017 สตาร์ทอัพชื่อ Bird and Lime ได้นำ 'สกู๊ตเตอร์ไร้ที่จอด' เข้ามายังพื้นที่ของซานฟรานซิสโก โดยเป็นการนำมาให้บริการโดยไม่ได้ขออนุญาตทางการ ส่งผลให้ Bird and Lime ถูกสั่งแบนทันทีเป็นระยะเวลาหนึ่ง
แต่แม้ว่าทางบริษัทจะถูกลงโทษ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจะหายไป เพราะมีบริษัทสตาร์ทอัพอีกมากมายที่นำสกู๊ตเตอร์แบบเดียวกันเข้ามาให้บริการ ทำให้ประชาชนร้องเรียนไปยังรัฐบาลท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องถึงความไม่ปลอดภัย และความไม่เป็นระเบียบของเมือง เนื่องจากสกู๊ตเตอร์เหล่านี้ถูกวางระเกะระกะทั่วเมือง เพราะไม่มีที่จอดอย่างเป็นกิจลักษณะ