สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่รัฐไทยเป็นภาคี สิทธิในการได้รับการประกันตัวสำหรับผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกฟ้องดำเนินคดีในคดีอาญาเป็นสิทธิที่จะดำรงอิสรภาพนอกที่กักขังในขณะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
สิทธิดังกล่าวนี้เป็นสิทธิที่เชื่อมโยงกับสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ เช่น สิทธิในเสรีภาพ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และสิทธิที่จะมีเวลาและปัจจัยที่เอื้อต่อการเตรียมการต่อสู้คดี ดังนั้น การปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหลักการและบรรทัดฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้มีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า การกักขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นข้อยกเว้นเพียงเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกฟ้องมีพฤติกรรมจะหลบหนี จะทำลายหลักฐาน หรือพยายามมีอิทธิพลต่อ/ข่มขู่พยาน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้ถูกกล่าวหาและผู้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองได้รับการปฏิเสธการประกันตัวหลายต่อหลายครั้ง โดยศาลให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม หากกระบวนการยุติธรรมมีมากกว่าหนึ่งมาตรฐาน ไม่มีกระบวนการที่เป็นภาวะวิสัย ไม่มีความโปร่งใส ย่อมส่งผลต่อหลักนิติธรรมทางอาญาที่รัฐบาลไทยย้ำเสมอมาว่าประเทศไทยยึดถือ หลักนิติธรรมจำต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรม โดยต้องปลอดจากการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจเพื่อให้ประชาชนทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน และกฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อมีการใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเช่นนี้แล้ว หลักนิติธรรมในประเทศไทยจึงเป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของผู้นำ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมสากลที่ยึดมั่นจริยธรรมของกฎหมาย
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การปฏิเสธการประกันมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการนำมาตรา 112 มาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญและผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ได้แสดงความห่วงกังวลเสมอมาว่า มาตรา 112 ไม่มีพื้นที่ในสังคมที่ (อ้างว่า) เป็นประชาธิปไตย และยืนยันว่าการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของประเทศหรือผู้นำประเทศเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างชอบธรรม ที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือการที่เยาวชนถูกจับดำเนินคดีตามมาตรา 112 และอาจถูกลงโทษอย่างร้ายแรง
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขอเรียกร้องว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :