นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโครงการวิจัยทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่สามารถออกฤทธิ์ได้นานกว่าสองเดือน ภายใต้ชื่อโครงการ HPTN 083 ได้ทำการศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า การใช้ยาต้านไวรัสคาโบทิกราเวียร์ ชนิดฉีด 1 ครั้งทุก 8 สัปดาห์ จะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองได้อย่างน้อยเท่ากับวิธีการกินยาต้านไวรัสทีดีเอฟ/เอฟทีซี (TDF/FTC) ซึ่งประกอบด้วยยาต้านไวรัสสองชนิด ได้แก่ ยาเอ็มทริซิทาบีนและยาทีโนโฟเวียร์ ไดโซพรอกซิล ฟูมาเรต วันละ 1 เม็ด หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ยาต้านไวรัสป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือเพร็พ (PrEP) หรือไม่
โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ภายใต้เครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Prevention Trial Network; HPTN) โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 4,570 คน จากสถาบันการวิจัยชั้นนำ 43 แห่งใน 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ไทย, บราซิล, เปรู, เวียดนาม, อาร์เจนตินา, และแอฟริกาใต้
ยาฉีดฯ ป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มทดลองได้ดีกว่ายากิน 3 เท่า
โดยจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีการแถลงเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ยาฉีดคาโบทิกราเวียร์สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองได้มากกว่ายากินทีดีเอฟ/เอฟทีซี กว่า 3 เท่า หรือร้อยละ 69
โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในโครงการรวม 50 ราย เป็นผู้ติดเชื้อฯ ในกลุ่มยากินทีดีเอฟ/เอฟทีซีจำนวน 38 ราย (คิดเป็นอุบัติการณ์การติดเชื้อใหม่ ร้อยละ 1.21) และพบผู้ติดเชื้อฯ ในกลุ่มฉีดยาคาโบทิกราเวียร์ จำนวน 12 ราย (คิดเป็นอุบัติการณ์ ร้อยละ 0.38)
อย่างไรก็ตาม ทั้งยาฉีดคาโบทิกราเวียร์ และยากินทีดีเอฟ/เอฟทีซี นับได้ว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้สูงมาก และยังมีความปลอดภัยสูงมากเช่นเดียวกัน
ดีกว่า "เพร็พ" เหมาะกับคนชอบลืมกินยา
ทั้งนี้ ยาฉีดคาโบทิกราเวียร์เป็นยาที่ออกฤทธิ์ระยะยาว สามารถฉีดทุก 8 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับยากินทีดีเอฟ/เอฟทีซี ชนิดเม็ดที่ต้องไม่ลืมที่จะรับประทานติดต่อกันทุกวัน เพื่อให้ได้ผลสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จึงน่าจะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมที่สำคัญอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
สำหรับผู้ที่ไม่ชอบทานยาเม็ด หรือมักจะลืมกินยาบ่อยๆ หรือผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากยาที่อาจมีผลต่อไตจากการใช้ยากินทีดีเอฟ/เอฟทีซี ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการป้องกันเอชไอวีที่สำคัญในการช่วยยุติปัญหาเอชไอวีและเอดส์ให้ได้ ภายในปี ค.ศ. 2030 ต่อไป
สำหรับประเทศไทย มีสถาบันวิจัยชั้นนำ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย, คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และคลินิกพิมาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมวิจัยในโครงการ HPTN 083 โดยได้รับอาสาสมัครชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง เข้าร่วมโครงการ รวม 553 ราย จากจำนวนทั้งหมด 4,570 ราย ซึ่งจะได้มีการแจ้งรายละเอียดและผลวิจัยให้ผู้ร่วมวิจัยต่อไป
นับเป็นความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีระดับนานาชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นับตั้งแต่โครงการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกด้วยยาต้านไวรัส โครงการวัคซีนป้องกันเอชไอวี RV144 โครงการ HPTN 052 โครงการ iPrEx จนมาถึงโครงการ HPTN 083
จากนี้พวกเรายังคงต้องทำงานหนักกันต่อไปในอนาคต เพื่อเพิ่มทางเลือกในการป้องกันเอชไอวี โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถเลือกใช้ยาฉีดหรือยากิน หรือวิธีการป้องกันอื่นๆ ตามความถนัดหรือความชอบที่เหมาะสมกับแต่ละคน
ซึ่งปัจจุบันคนไทยสามารถเข้าถึงยากินได้แล้ว และน่าจะสามารถเข้าถึงยาฉีดตัวใหม่นี้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอชไอวีในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ.2030 ในที่สุด