ไม่พบผลการค้นหา
เวทีสาธารณะ ชี้พ.ร.บ.ชุมนุมและการตีความของศาลมีปัญหา จำกัดสิทธิมากกว่าอำนวยความสะดวก ยัน!เสรีภาพในการชุมนุมเป็นคุณค่าของระบบเสรีประชาธิปไตย ด้านตัวแทนตำรวจวอนเห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ร่วมกับภาคประชาชนหลายองค์กร จัดเวทีสาธารณะ "บทเรียนและสภาพปัญหาจาก พ.ร.บ. การชุมนุม ฯ และบทบาทของฝ่ายตุลาการ" เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่องานวิจัย เรื่อง ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งดุลยภาพในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.สมชาย ยืนยันว่า เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมเสรีประชาธิปไตย ซึ่งต้องพิจารณา 3 ด้าน คือ การทำงานของตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ,ตัวบทกฎหมายและระบบการเมืองว่าเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน หากกฎหมายดีแต่ตำรวจไม่ดีและบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็ยังจะถือว่าดี แต่หากทั้ง 3 ส่วนไม่มีอะไรดีเลยเหมือนประเทศไทยตอนนี้ เสรีภาพการชุมนุมก็จะถูกกดทับ

ส่วนตุลาการในรัฐไทย​ รวมถึงตัวบทกฎหมายให้ความหมายการชุมนุมสาธารณะไว้กว้างมาก​ การเชิญชวนหรือแชร์กิจกรรมในโซเชียลมิเดียหรือจัดกิจกรรมเเค่ 2​ คน​ และการเล่นละคร, การยืนเฉยๆ​ ที่เป็นการเเสดงออกเชิงสัญลักษณ์​หรือ​กิจกรรม​ ที่ไม่ใช่การชุมนุม​ แต่ศาลตีความว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ​ ซึ่งแตกต่างจากประเทศเสรีประชาธิปไตยอื่นๆ

โดย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีปัญหาทั้ง ตัวบท,การบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ว่ากฎหมายกำหนดให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมและดูแลความสงบสุขของสาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเหมือนจำกัด 14 ของผู้ชุมนุมมากกว่า และบทลงโทษ​ ก็สูงเกินไป ไม่คงเส้นคงวา​ ศาลแต่ละแห่งปรับไม่เท่ากัน​ 


บทบาทกับการตีความ

รศ.สมชาย ระบุถึงบทบาทศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ควรวินิจฉัยประเด็นสิทธิเสรีภาพประชาชนให้กว้างขวางขึ้น​ ดูว่ากฎหมายที่ออกมาจำกัดสิทธิ์​ ขัดรัฐธรรมนูญ​หรือไม่​ พร้อมย้ำว่า​ เสรีภาพการชุมนุมกับความสงบเรียบร้อยสาธารณะต้องเท่ากัน​ และต้องแยกการทำกิจกรรมในที่สาธารณะ​ กกับการชุมนุมสาธารณะ จำกัดเสรีภาพ​การชุมนุม​ต้องได้สัดส่วน​ สมเหตุสมผล​ และต้องใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย และตรวจสอบความรับผิดชอบด้วยกฎหมายของการสั่งห้ามการชุมนุมของเจ้าหน้าที่​อย่างทันท่วงที่ด้วย


อุปสรรคใต้ร่มเงากฎหมาย

จากนั้นมีการเสวนา โดยผู้ร่วมเสวนาที่สำคัญคือ 'ชลธิชา' แจ้งเร็ว กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวถึงปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวชุมนุมของประชาชน มีปัญหาทั้งการตีความและการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่ 

ด้าน สมบูรณ์ คำแหง จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ ระบุในเวทีสาธารณะ บทเรียนและสภาพปัญหาจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่า การชุมนุม เป็นครื่องมือเดียวของประชาชน คนที่เดือนร้อน โดยเฉพาะในชนบทที่อยู่ห่างไกล ปัญหาใหญ่คือความเข้าใจและท่าทีของผู้มีอำนาจ ซึ่งกฎหมายนี้ออกมาใน ยุค คสช.ที่คณะรัฐประหารครองอำนาจ ต้องการควบคุมสังคม มุ่งความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก 

อย่างไรก็ดี เมื่อชาวบ้านถูกกดทับไม่ได้รับการแก้ปัญหาในพื้นที่ ก็ต้องมาที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐอยู่ดี เพราะรัฐไทยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แต่เมื่อเข้ามาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาก็ต้องเผชิญกับท่าทีในด้านลบของจากรัฐบาลรวมถึงคนในเมือง ที่หาว่าคนชนบทสร้างความเดือดร้อนด้วย ดังนั้นจึงมีคำถามว่า พ.ร.บ.ชุมนุม มีเจตนาหรือสร้างขึ้นมาเพื่อจะมากดทับประชาชน ,สร้างความสงบเรียบร้อยหรือต้องการอะไรกันแน่ 


ข้อจำกัดในการตีความ

ด้าน พ.ต.อ. อรรถพล อนุสิทธิ์ รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวตอนหนึ่งว่ามาตรา 3 กฎหมายชุมนุมสาธารณะ บอกชัดเจนว่าการชุมนุมคืออันไหนบ้าง ซึ่งงานมหรสพก็ถือเป็นการชุมนุมด้วย จึงเป็นข้อจำกัดในการตีความ ส่วนมาตรา 4 เกี่ยวกับผู้จัดชุมนุม ต้องมีพฤติกรรมแสดงออกให้เห็นชัดเจนแต่มาตรา 10 นั้นสันนิษฐานผู้ชุมนุมไว้กว้าง ซึ่งตนได้บอกกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่าให้ตีความผู้จัดชุมนุมอย่างแคบ 

พ.ต.อ. อรรถพล ย้ำถึงภาระหน้าที่ของตำรวจ ที่ต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้ผู้จัดชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมอ้างว่าใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 แต่สร้างภาระให้ตำรวจ ที่ต้องดูแลไม่ให้การชุมนุมกระทบกับสิทธิของผู้อื่นด้วย โดยยกตัวอย่างว่า บางพื้นที่ผู้ชุมนุมคิดว่าจะกดดันผู้มีอำนาจได้ แต่คนในพื้นที่อาจไม่พอใจ และอาจก่ออันตรายต่อผู้ชุมนุมได้ จึงอยากให้เข้าใจจุดนี้ด้วย