ไม่พบผลการค้นหา
โควิด-19 ทำให้เกิดการชะงักงันของระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับการจ้างงานที่ตกต่ำลง ทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นในทั่วโลก สถิติดังกล่าวได้รับการยืนยันจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พร้อมชี้ว่า สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้อัตราการมีงานทำตกต่ำลงไปด้วยเช่นกัน

รายงานจากทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า อัตราการว่างงานในตอนนี้จะยังคงอยู่เหนืออัตราในปี 2562 ไปจนกว่าจะถึงปี 2566 และผลกระทบดังกล่าวจะต้องใช้เวลานานหลายปีในการฟื้นตัวกลับมาให้เป็นเหมือนเดิม ทั้งนี้ ทางองค์การได้ชี้ว่าอัตราการจ้างงานที่ย่ำแย่ลงกว่าเคย เกิดจากสายพันธุ์กลายพันธ์ใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2562 ที่ผ่านมา

การเกิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตและมาตรการการจ้างงานในทั่วโลก ทั้งนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศประมาณการตัวเลขตำแหน่งงานที่ว่างลงเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 52 ล้านตำแหน่งทั่วโลกในปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการปรับปรุงการแสดงอัตราตลาดแรงงานเมื่อเดือน พ.ค. 2564 ที่ 26 ล้านตำแหน่ง

จากรายงานเปิดเผยอีกว่า อัตราการว่างงานของโลกจะยังคงตัวอยู่ที่ 207 ล้านตำแหน่ง ปรับตัวน้อยลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่ 214 ล้านตำแหน่ง ต่างจากปี 2562 ที่มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 186 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี องค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตัวเลขอัตราการว่างงานจริงอาจมีมากกว่า “อย่างเห็นได้ชัด” เมื่อเทียบกับตัวเลขการประมาณการจากทางองค์การ เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากหลุดออกจากตลาดแรงงานโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ มีการคาดเดาว่าตัวเลขการหางานทำจะมีอยู่ที่อัตรา 59.3% ในปี 2565 ต่ำกว่าปี 2562 อยู่ที่ 1.2%

“สองปีตลอดวิกฤตการณ์ ผลลัพธ์ยังคงเปราะบางและหนทางสู่การฟื้นฟูยังคงเชื่องช้าและไม่แน่นอน” กี ไรเดอร์ ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุ “เราได้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานที่จะคงอยู่ไปอีก พร้อมๆ กันกับความน่าวิตกกังวลถึงการเพิ่มขึ้นของภาวะความยากจนและความไม่เท่าเทียม แรงงานหลายคนถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนงานทำในรูปแบบใหม่ อาทิ การตอบรับกับปัญหาการเดินทางและท่องเที่ยวที่ตกต่ำมาอย่างยาวนาน”

นอกจากนี้ ไรเดอร์ชี้ว่า “มันไม่มีการฟื้นฟูที่แท้จริงจากการแพร่ระบาด หากปราศจากการเข้าไปฟื้นฟูตลาดแรงงานที่ครอบคลุม และเพื่อจะให้เกิดความยั่งยืน การฟื้นฟูในครั้งนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของงานที่ดีและมีคุณค่า รวมถึงด้านสาธารณสุขและความปลอดภัย ความเท่าเทียม ประกันสังคมและการเจรจาทางสังคม”

องค์การแรงงานระหว่างประเทศชี้ว่า เชื้อกลายพันธุ์เดลตาและโอไมครอนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การคาดการณ์ตลาดแรงงานสำหรับปี 2565 เลวร้ายลง พร้อมกันนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศย้ำเตือนว่าเชื้อกลายพันธุ์จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่จะส่งผลตามมาในอนาคตของการแพร่ระบาด

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยเปิดเผยความไม่เท่าเทียมที่แฝงตัวอยู่ในโลก โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศชี้ว่าประเทศรายได้สูง ซึ่งมีอัตราส่วนการฉีดวัคซีนสูงกว่านั้น มีอัตราการฟื้นฟูของตลาดแรงงานที่ดีกว่า โดยอัตราการว่างงานที่ลดต่ำลงกว่าครึ่งของโลก มีที่มามาจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่แรงงานจากประเทศพัฒนาแล้วคิดเป็นอัตราส่วนเพียงแค่ 1 ใน 5 ของโลกเท่านั้น ทั้งนี้ ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำคือประเทศที่ประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายตลอดการแพร่ระบาดนี้

ที่มา:

https://www.theguardian.com/society/2022/jan/17/covid-variants-leading-to-worse-global-unemployment-says-ilo?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR2DW1i4qiQHvwNAB7Mk9hp5flfFiybD3V7mEaaevwC7Ray6Yc4c5bFGM8g

https://www.reuters.com/business/global-jobs-recovery-delayed-by-pandemic-uncertainty-omicron-ilo-says-2022-01-17/