'คริสตาลินา จอร์จีวา' ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าซึ่งเป็นกำหนดกลับมาเปิดโรงงานในจีนจะเป็นปัจจัยบ่งชี้สำคัญว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมาได้หรือไม่ และสถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยให้หลายฝ่ายสามารถประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกได้ดีขึ้น
"เราอยู่ในช่วงสร้างแบบจำลองสถานการณ์ไม่ใช่ช่วงคาดการณ์ผลลัพธ์" คริสตาลินา กล่าว
ผอ.ไอเอ็มเอฟ ย้ำว่า ปัจจุบันสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงข้องของจีนจากร้อยละ 8 ของจีดีพีโลกในช่วงต้นปี 2000 เป็นร้อยละ 19 ในปัจจุบัน จะสร้างผลกระทบอย่างแน่นอน "โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย รวมไปถึงในระดับโลกด้วย"
ทั้งนี้ คริสตาลินา ยังออกมาชื่นชมที่จีนเน้นมาตรกรช่วยเหลือสำคัญ 2 ประการ คือการเร่งดูแลพื้นที่แพร่ระบาดและยังอัดฉีดเม็ดเงินสนับสนุนเข้าระบบ พร้อมๆ กับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้
แม้รัฐบาลจีนจะออกมาสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่เหมือนปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนมีวิกฤตในระบบการเงินและธนาคารจากปัจจัยสัดส่วนหนี้สูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะไม่เอื้อให้รัฐบาลมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการพยุงเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานความน่ากังวลดังกล่าวว่า โรคระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่สุดสำหรับจีน เพราะนอกจากปริมาณหนี้ที่สูงขึ้นมาก การเติบโตทางเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาก็ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ระดับร้อยละ 6.1 เท่านั้น
ข้อมูลล่าสุดจากการะทรวงการคลังของจีนยังชี้ว่า รายได้ของรัฐบาลในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ.ที่ผ่านมา ยังลดลงถึงร้อยละ 9.9 ซึ่งถือว่าหดตัวต่ำสุดตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยรายได้ดังกล่าว แบ่งเป็นจากการจัดเก็บภาษีรวมทั้งหมดที่ลดลงถึงร้อยละ 11.2 ซึ่งมีปัจจัยบั่นทอนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นที่มาหลักของรายได้รัฐบาล ลดลงราวร้อยละ 19 ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือในการลดภาษีของจีนเอง
เมื่อลงไปมองที่ระดับหนี้ของจีน ตามข้อมูลจากสถานบันการเงินระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 2562 พบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 310 เปอร์เซ็นต์/จีดีพีประเทศ โดยจีนมีหนี้ในสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าหนี้ในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ทั้งสิ้นราว 72.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,392 ล้านล้านบาท และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่านั่นเป็นระดับเดียวกันกับที่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจ
หากเปรียบเทียบสัดส่วนหนี้นอกภาคการเงินและธนาคารกับสถานการณ์ในปี 2552 ที่มีวิกฤตการเงิน ตอนนั้นสัดส่วนหนี้อยู่ที่ร้อยละ 93 ต่อจีดีพี ขณะที่ตัวเลขของสิ้นปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 153 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้นอกภาคการเงินสูงที่สุดในโลก จนสถาบันการเงินโลกต้องออกมาเตือนว่าจีนเป็นประเทศผู้ผลักดันหนี้นอกภาคการเงินของโลก อีกทั้งสถิติการผิดนัดชำระตราสารหนี้ ยังสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ในปี 2561 และ 2562 ที่ผ่านมา ฝั่งความพยายามในการใช้จ่ายภาครัฐไปกับโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักของหนี้รัฐบาลท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้นจาก สัดส่วยในปัจจุบันที่มีหนี้สูงถึงร้อยละ 40 ของมูลค่าจีดีพีประเทศปี 2562 ที่อยู่ที่ 100 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 465 ล้านล้านบาทแล้ว
ซ้ำร้ายแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว แต่การควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ในหลายประเทศจะสะท้อนกลับมาเป็นปัญหากับเศรษฐกิจจีนอยู่ดีเนื่องจากเป็นประเทศคู่ค้าของกันและกัน ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบกับรายได้ของรัฐบาลจีนอีกทอดหนึ่ง หากภาคเอกชนไม่สามารถฟื้นตัวได้
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้กำหนดนโยบายของจีนต้องเผชิญหน้ากับการเลือกว่าจะยอมทนให้เศรษฐกิจชะลอตัวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือจะเลือกอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับระบบเวลาทางการเงินแทน