จากเหตุระเบิดโรงงานของบริษัทหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในจังหวัดสมุทปราการ ส่งให้มีผู้บาดเจ็บหลายคน ทั้งยังนำไปสู่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่อาสาดับเพลิงอีกหนึ่งราย ประชาชนจำนวนมากวิจารณ์รัฐบาลที่ไร้ศักยภาพในการจัดการสถานการณ์อย่างทันท่วงที
มากไปกว่านั้น คือการตั้งข้อสังเกตถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการบังคับใช้ ทั้งประเด็นผังเมือง ไปจนถึง พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2562 ที่เป็นการแก้ไขจากฉบับเดิม ปี 2535 โดยมีการปลดล็อคให้โรงงานขนาดเล็กออกจากการควบคุม, ตัดอำนาจจากกรมโรงงานเพื่อเข้าไปตรวจสอบ ทั้งยังเปิดช่องให้เอกชนตรวจสอบกันเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บทความนี้ต้องการสะท้อนเป็นอีกด้านหนึ่งของสมการหลายตัวแปรนี้ ว่าด้วยการผูกขาดในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ซึ่งแม้ ‘หมิงตี้’ จะเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญ แต่ไม่ใกล้เคียงการเป็นรายใหญ่ - บทบาทที่ กลุ่ม ปตท.และซีเมนต์ไทย เป็นผู้ครอบครอง
ศูนย์วิจัยกรุงศรีชี้ข้อมูลว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีกำลังผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งสิ้น 32 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในอาเซียน และรั้งอันดับที่ 16 ของโลก
ในจำนวนผู้ผลิตนั้น พบว่า กลุ่มปตท. (PTT group) ครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 54% โดยมีกลุ่มซีเมนต์ไทย (SCG group) เป็นรายใหญ่เจ้าที่สองด้วยสัดส่วน 29% หรือหมายความว่าผู้เล่นเพียงสองรายนี้ครองตลาดไปแล้วกว่า 83%
ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ให้นิยายของ ‘ผู้มีอำนาจเหนือตลาด’ ไว้อย่างชัดเจน แบ่งเป็นสองกรณี
กรณีที่ 1 ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาของสินค้าหรือบริการหนึ่งตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
กรณีที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกของตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันกัน 75% และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
สำหรับ ปตท.นั้น เข้าข่ายผู้มีอำนาจเหนือตลาดตั้งแต่ส่วนแบ่งที่เกิน 50% อีกทั้ง รายได้ของปี 2563 ยังสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท - ซึ่งต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำลงมามากแล้วจากช่วงปี 2561-2562 ที่รายได้ ปตท.ขึ้นไปแตะถึง 2.2-2.3 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ประชาชนต้องไม่ลืมว่าแม้ ปตท.จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด แต่ตามกฎหมายนั้นไม่ได้มีความผิด ตราบใดที่ไม่ใช่อำนาจตามเงื่อนไขด้านล่่าง
1.กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือราคาขายหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม
2.กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมให้คู่ค้าของตนต้องจำกัด การบริการ การผลิต การซื้อ หรือการขายสินค้า หรือจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น
3.ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การขาย การส่งมอบ การนำเข้า โดยไม่มีเหตุผลสมควร รวมถึงการทำลายหรือทำให้สินค้าเสียหายเพื่อลดปริมาณสินค้าให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด
4.แทรกแซงธุรกิจผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
หากกลับมาพิจารณาที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะพบว่า ทั้งสองกลุ่มผู้ครองตลาดเน้นทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยกลุ่มปตท.เน้นในฝั่งอุตสาหกรรมต้นน้ำเป็นหลัก เช่น การขุดเจาะและผลิตก๊าซ, โรงกลั่นน้ำมัน และมีการผลิตผลติภัณฑ์ปิโตรเคมีหลายประเภท ขณะที่กลุ่มซีเมนต์ไทยเน้นทำธุรกิจต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้าง
สำหรับผู้ผลิตปิโตรเคมีรายอื่นๆ จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและปลาย ซึ่งมีทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติหรือร่วมลงทุนกับต่างชาติ เช่น อินโดรามา (Indorama) Exxon และ Ming Dih รวมถึงผู้ผลิตสัญชาติไทย เช่น วีนิไทย
ตามปกตินั้น การผลิตปิโตรเคมีจะแบ่งเป็น 4 ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นก็จะมีผู้เล่นซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังที่จะเห็นได้จากรูปแบบการทำธุรกิจข้างต้น ซึ่งฝั่ง ปตท.เน้นไปที่การผลิตขึ้นต้น ขณะผู้ผลิตอื่นๆ เน้นไปที่ปลายน้ำ