สำหรับคุณสมบัติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในคลินิก Long Covid จะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด 19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป การให้บริการจะเน้นไปทางติดตามอาการที่เกิดหลังจากหายป่วยโควิด-19 โดยผู้ป่วยสามารถรับบริการผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้
1. ผู้ป่วยมาเข้ารับบริการที่คลินิกปกติ และแพทย์วินิจฉัยอาการที่เข้าได้กับ Long Covid และส่งผู้ป่วยมาที่คลินิกดังกล่าว
2. ผู้ป่วยที่สงสัยอาการตนเองและเข้ามารับบริการที่คลินิก Long Covid โดยตรง รูปแบบการให้บริการแบบ One stop service จัดให้มีการบริการคัดกรอง พบแพทย์ในจุดเดียว กรณีที่ต้องมีการปรึกษาจิตแพทย์ จะให้มีการทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิตก่อนเข้าพบแพทย์
ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลเป็นไปตามสิทธิของผู้ป่วย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long Covid จะแบ่งเป็น
1. บุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long Covid ประกอบด้วย แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาลวิชาชีพ สหวิชาชีพอื่น ๆ เช่น นักกายภาพบำบัด เป็นต้น
2. กรณีที่จำเป็นต้องได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ประกอบด้วย อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ อายุรแพทย์ระบบประสาท จิตแพทย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง ตามรายละเอียดดังนี้
1. โรงพยาบาลกลาง ณ คลินิกประกันสุขภาพ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
2. โรงพยาบาลตากสิน ณ ARI Clinic ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น.
3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.
6. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ณ คลินิกอายุรกรรม ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น.
7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ณ ARI Clinic ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
8. โรงพยาบาลสิรินธร ณ คลินิกวัณโรค ทุกวันอังคาร เวลา 08.00-12.00 น.
9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ณ คลินิกผู้ป่วยนอก ทุกวันพุธ 13.00-16.00 น.
โดยสามารถนัดหมายรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และขยายช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ telemedicine ในแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบัน ยืนยันอีกครั้งว่า โควิดไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่กระจอก โดยทีมงานจาก Department of Cardiology, Kaiser Permanente San Francisco Medical Center สหรัฐอเมริกา ทบทวนข้อมูลวิชาการแพทย์จนถึงปัจจุบัน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Current Atherosclerosis Reports เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา สรุปให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่ช่วงที่ติดเชื้อ และมีโอกาสส่งผลกระทบต่อเนื่องไประยะยาวในลักษณะของ Long COVID
ภาวะผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด เกิดได้มากมายหลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว (เป็นได้ทั้งด้านซ้ายและขวา) ลิ่มเลือดอุดตัน (ในปอด หรือในหลอดเลือดดำ) โรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังพบว่าจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการต้องมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเรื่องหัวใจล้มเหลว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
Gennaro FD และทีมได้เผยแพร่ผลการวิจัยทบทวนข้อมูลอย่างเป็นระบบจากงานวิจัยกว่า 196 ชิ้นทั่วโลก รวมกลุ่มตัวอย่างถึง 120,970 คน เพื่อดูอัตราการเกิดภาวะ Long COVID ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลกพบว่า ทั่วโลกผู้ที่เคยติดโควิดจะมีอัตราการเกิดภาวะ Long COVID สูงถึง 56.9%
ทั้งนี้อาการผิดปกติของ Long COVID นั้นเกิดได้ทั่วร่างกายหลากหลายระบบ เพศหญิงมักมีอาการหรืออาการแสดงที่ผิดปกติทั่วไป และอาการทางด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาท
ในขณะที่ยิ่งมีอายุมากขึ้น จะมีอัตราการเกิดอาการผิดปกติทั่วไป อาการทางด้านจิตเวช ระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ และผิวหนังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม Long COVID พบได้ทุกเพศ ทุกวัย และเป็นได้ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง
ในสหราชอาณาจักรประเมินผลกระทบจาก Long COVID พบว่ามีประชากรอย่างน้อย 1.8 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ ในจำนวนี้มี 791,000 คน (44%) ที่มีอาการต่อเนื่องมาแล้วมากกว่า 1 ปี และอีก 235,000 คน (13%) ที่มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 2 ปี จำนวนไม่น้อยที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก เช่น อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า หรืออาจถึงขั้นเหนื่อยหอบ บางส่วนยังสูญเสียการดมกลิ่น บางส่วนมีปัญหาเรื่องสมาธิ
นพ.ธีระบุว่า สิ่งที่เราควรทำคือ 1.ผู้ที่เคยติดเชื้อไปแล้ว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และคอยประเมินอาการผิดปกติต่างๆ หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ 2.คนที่ยังไม่เคยติดเชื้อ ก็ควรต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตประจำวัน เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ใส่หน้ากากเสมอ
ฝนตกหนักในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบผู้เสียชีวิต 1 ราย ขณะที่ผู้ว่าฯ สั่งเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยพร้อมเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
Source - สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
Sunday, May 08, 2022 10:06
วันนี้ (8 พ.ค.65) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับรายงานจากสำนักงาน ปภ.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ได้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากตั้งแต่ วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ วิภาวดี ไชยา และอำเภอท่าฉาง รวม 3 ตำบล 10 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 328 ครัวเรือน 1,065 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อ นายไซ๊ ช้าน อายุ 30 ปี เป็นชาวพม่าที่สูญหาย เนื่องจากถูกกระแสน้ำพัดขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ข้ามหลังท่อ box culvert มีบ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง 11 หลัง เสียหายบางส่วน 29 หลัง ถนนในหมู่บ้านชำรุดเสียหาย 25 สาย สะพาน/คอสะพานชำรุดเสียหาย 18 แห่ง/ท่อระบายน้ำ 1 แห่ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการซ่อมแซมถนนและคอสะพานที่ชำรุดเสียหาย ขณะนี้รถยนต์สามารถสัญจรไป-มา ได้แล้ว สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีฝนตกเล็กน้อย ปริมาณน้ำฝนสะสม 24 ชม.ที่ผ่านมา มากที่สุด อบต.ปากฉลุย อำเภอท่าฉาง วัดได้ 82 มม. ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านการให้ความช่วยเหลือฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อาสาสมัคร กู้ชีพ/กู้ภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันช่วยยกของขึ้นที่สูง ค้นหาผู้สูญหาย และได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม
โดยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งการให้อำเภอและหน่วยงานเกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองด้านล่าง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกับจัดเตรียมศูนย์อพยพ เครื่องมือ อุปกรณ์ รถยกสูง หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ ไม่ขับรถผ่านทางน้ำข้าม หรือลงไปในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อป้องกันการสูญเสีย และให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบทางราชการโดยเร็ว
กอนช. เตือน 6 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - น้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 7 - 10 พ.ค.นี้
Source - ไทยนิวส์ออนไลน์
Sunday, May 08, 2022 10:30
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือน 6 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณภาคใต้ ช่วง 7 - 10 พ.ค. นี้
ประกาศ กอนช. ฉบับที่ 11/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณภาคใต้ ช่วง 7-10พ.ค.นี้
จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 7 - 10 พฤษภาคม 2565 ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนและเคลื่อนขึ้นไปปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7 - 10 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ และเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2565
อุตุฯ เตือน ฉ.5 พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอล 9-10 พ.ค.
Source - ผู้จัดการออนไลน์
Sunday, May 08, 2022 09:03
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 5 ลงวันที่ 08 พฤษภาคม 2565 เตือน “พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอล” ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 11.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 90.0 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในวันนี้ (8 พ.ค.) มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวขึ้นไปปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค.65 พายุนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่จะทำให้ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย อ่าวไทย และทะเลอันดามัน มีกำลังปานกลาง ถึงค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในบริเวณภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง