ไม่พบผลการค้นหา
สมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเฟซบุ๊กเพจสุราไทยจัดเวทีเสวนา ‘ไม่คบ 32’ร่วมรับฟังการแสดงทรรศนะจากนักวิชาการและนักกฎหมาย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพจสุราไทย ร่วมกันจัดงาน ‘ไม่คบ 32’ สะท้อนเสียงจากภาคประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการพิจารณาข้อกฎหมายมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษนาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้มีความทันสมัยขึ้น

หลายเสียงในวงเสวนาบอกว่าที่ผ่านมาตัวกฎหมายมีปัญหามากมาย คลุมเครือในแง่ของการตีความ มีสินบนจำนวนมากเป็นแรงจูงใจในการนำจับ จนเป็นเหตุให้มีประเด็นทางสังคมที่ประชาชนและผู้ประกอบการถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 32 อย่างไม่เป็นธรรมอยู่บ่อยครั้งโดยขอให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 77 ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในด้านต่าง ๆ และให้ประชาชนสามารถเข้าใจกฎหมายอย่างชัดเจน


คลุมเครือ ไม่ชัดเจน

“เราต้องมีเสรีภาพที่บอกว่าเราอยากดื่มอะไร และราชอบอะไร” เสียงสะท้อนจาก เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

เสวนาไม่คบ 32
  • เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

“แต่ก่อนมีผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ราย ซึ่งเป็นเจ้าตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นอยู่แล้ว การโฆษณาก็จะเป็นการเพิ่มฐานผู้บริโภค กฎหมายนี้จึงออกมาเพื่อป้องกันประชาชนซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ในอนาคตถ้ามองถึง พรบ.สุราก้าวหน้า หากผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตสุราได้ แต่ไม่สามารถโฆษณาได้ บอกว่าสินค้าดีอย่างไรไม่ได้ ก็ไม่สามารถขายได้”

ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กล่าวว่า “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นั้นร่างขึ้นโดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมาตรา 32 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็มีจุดที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันปี 2560 โดยอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และเกินสมควรกว่าเหตุ ทั้งยังอาจเพิ่มภาระและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ จึงนับว่ามาตรา 32 ยังมีประเด็นที่หลายฝ่ายควรร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายเพื่อให้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามหลักนิติธรรมและเหมาะสมกับยุคสมัยยิ่งขึ้น”


จำกัดสิทธิและเสรีภาพ

การใช้ดุลยพินิจของพนักงานเป็นหลักรวมถึงมีการมอบสินบนแจ้งจับทำให้กฎหมายนี้ถูกตีความได้หลากหลายเกินไป ด้าน วิสุทธิ์ โลหิตนาวี นายกสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย กล่าวว่า การใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานรุนแรงเกินไปและอาจจะไม่ถูกต้อง

เสวนาไม่คบ 32
  • วิสุทธิ์ โลหิตนาวี นายกสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย

“เราเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอย่างสุจริต และอยากได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม ตอนที่กฎหมายดังกล่าวออกมาก็เอาศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งคุณจะเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาบังคับผู้อื่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ได้

สิ่งสำคัญสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คือต้องให้การศึกษากับผู้เยาว์ ให้ความระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผมว่าตรงนี้สำคัญมากกว่าการห้ามโน่นห้ามนี่เสียอีก”

ด้าน ผศ. ดร. เจริญ เจริญชัย นักวิชาการ และแอดมินเพจ สุราไทย กล่าวว่า “ปัจจุบัน เกิดปัญหาการใช้มาตรา 32 จากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการตรวจจับและออกหมายเรียกประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงกลายเป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น ทางคณะผู้จัดงานจึงต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาข้อกฎหมายมาตรา 32 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามสภาพสังคม มิติทางเศรษฐกิจ และวิธีการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป” 


ต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

แม้งานเสวนาครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวกันแสดงออกของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 32 แต่ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ย้ำกับ วอยซ์ ออนไลน์ว่าต้องไม่มองข้ามความเห็นของผู้อื่น

เสวนาไม่คบ 32
  • รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน

“การรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนต้องมีความรอบด้าน ถ้าไปฟังเวทีอื่นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผู้ที่ดื่มสุราแล้วขับรถมึนเมา ความคิดเห็นก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าไปดูเวทีภาครัฐก็จะคิดอีกแบบหนึ่ง แม้กระทั่งเวทีของผู้ประกอบการเอกชนประเภทอื่นก็เหมือนกัน

เมื่อคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของท่านแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิในการอยู่เป็นสุขของพี่น้องประชาชนคนอื่นด้วย เมื่อเอามาประกอบกันจะหาจุดลงตัวได้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ควรทำอย่างไร รายย่อยควรจะทำอย่างไร ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้ โดยต่างคนต่างถอยกันคนละก้าว เดินหน้ากันคนละก้าว แบบนี้ก็สามารถพูดคุยกันได้”

สอดคล้องกับความเห็นของ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ที่บอกว่า การรับฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ “ต้องเรียนก่อนว่าผมฟังทั้งสองฝ่าย แต่ต้องมาดูกันอีกทีว่าฝ่ายไหนมีข้อเรียกร้องอะไร ต้องถามทั้งสองฝ่ายก่อน

ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่รุนแรงมาก เรามีการกำจัดอายุที่ 20 ปี หรือมีกฎหมายเมาแล้วขับที่เป็นมาตรฐานระดับโลก จริงๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่หน่วยงานหรือรัฐราชการที่มีการทำงานหรือวัดผลสัมฤทธิ์ของงานอาจจะไม่ถูกต้อง เรามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ปราศจากสินบนต่างๆ หรือไม่”

จากประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น สมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเพจสุราไทย จึงมีจุดยืนเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณามาตรา 32 ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยยึดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 77 ที่ระบุว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง”

เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน​​พร้อมสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งประชาชนและภาครัฐ โดยสมาพันธ์ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในระหว่างการรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ครบ 10,000 คน เพื่อยื่นเรื่องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาแก้ไขมาตรา 32 อย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายอยู่ในขณะนี้