น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน มิ.ย. 2562 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 2.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ 6.2 ส่วนการส่งออกไทยมีทิศทางสอดคล้องการค้าโลก อุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่องนับจากปลายปี 2561
สาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับความพยายามเจรจาแต่ละครั้ง เพื่อให้ได้ข้อเสนอดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่าย ยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ความขัดแย้งของคู่ค้าอื่นๆ ยังเป็นสถานการณ์ซ้ำเติมบรรยากาศการค้าโลก ทำให้ความไม่แน่นอนและความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น
ทั้งนี้ ส่งออกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เดือน ม.ค. ติดลบร้อยละ 5.7 ก.พ. ขยายตัวร้อยละ 5.91 มี.ค. ติดลบร้อยละ 4.88 เม.ย. ติดลบร้อยละ 2.57 และ พ.ค. ติดลบร้อยละ 5.79
ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารขยายตัว ยางพารามูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน
สำหรับรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกยางพารากลับมาขยายตัวและมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งปริมาณและราคา นอกจากนี้ เครื่องเทศและสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่ม ขยายตัวดี ด้านสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากจำนวนนักเที่ยวท่องเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องสำอางขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและของใช้ในบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกหดตัวร้อยละ 2.9
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมิถุนายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 676,838 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 583,094 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.2 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 93,745 ล้านบาท รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 3,881,308 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 2.7) การนำเข้ามีมูลค่า 3,812,240 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 2.1) และการค้าเกินดุล 69,068 ล้านบาท
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 21,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 9.4 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 6 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 122,971 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.9) การนำเข้ามีมูลค่า 119,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.4) และการค้าเกินดุล 3,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 โดยในระยะเร่งด่วน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากขึ้น
นอกจากนี้ จะใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศนำสินค้าไทยเข้าไปด้วย และกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ โดยขยายโอกาสการส่งออกในตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ และอินเดีย และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น แคนาดา
รวมทั้งเร่งขยายความร่วมมือและเจรจาความตกลงทางการค้า การรักษามาตรฐานสินค้า ขยายช่องทางการขายสู่ออนไลน์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายและลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :