ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.อนาคตใหม่ ชี้กองทัพบกทำเอ็มโอยูกับกรมธนารักษ์ในโครงการสวัสดิการเชิงธุรกิจ ทบ. ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องความโปร่งใสในระยะยาว จี้เปิดสัดส่วนรายได้ที่เป็นธุรกิจของ ทบ. ให้สาธารณชนทราบ พร้อมแก้ พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ให้ทุกหน่วยของรัฐนำเงินนอกงบฯ มาไว้ 'คลัง' ทุกกรณี

นายวิโรจน์​ ลักขณาอดิศร​ ส.ส.บัญีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่​ กล่าวถึงกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ร่วมกับ กรมธนารักษ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก ว่า การที่ ผบ.ทบ. ตระหนักถึงปัญหาของสวัสดิการเชิงธุรกิจ หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่กองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยูในโครงการในการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ ร่วมกับกรมธนารักษ์ แม้ว่าจะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหา แต่ถ้าหากเป้าหมายของการแก้ปัญหานี้ คือ การสร้างความโปร่งใส และการวางกลไกที่ตรวจสอบได้ การทำเอ็มโอยูนั้นเป็นแค่เพียงมาตรการที่ดึงเอากรมธนารักษ์ มาช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับกองทัพบกเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องความโปร่งใสในระยะยาวได้

นายวิโรจน์ยังยกตัวอย่างข่าวการลงนามในเอ็มโอยู ประชาชน หรือสภาผู้แทนราษฎร ไม่อาจรู้ได้เลยว่า รายละเอียดใน เอ็มโอยูคืออะไร ตามข่าวระบุว่า ก่อนที่จะมีการลงนามในเอ็มโอยู ผบ.ทบ.ได้ตรวจร่างเอ็มโอยูถึง 1 เดือนครึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้มีการเปิดเผยให้กับสาธารณชนทราบ ว่า รายละเอียดในเอ็มโอยูที่ผ่านการตรวจทานของ ผบ.ทบ. แล้ว นั้นมีเงื่อนไขอะไรบ้าง มีข้อยกเว้น หรือสิทธิพิเศษ ให้กับผู้ใด หรือในกรณีใดบ้าง และการที่กรมธนารักษ์จะแบ่งสัดส่วนรายได้คืนให้กองทัพบกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 - 5 บางอย่างก็ร้อยละ 7.5 นั้นมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ว่า ธุรกิจใดมีการแบ่งสัดส่วนรายได้เท่าใด เพื่อให้ประชาชน และสาธารณชนได้พิจารณาร่วมกัน

แนะแก้ พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ให้ทุกหน่วยของรัฐนำเงินนอกงบฯ มาไว้ 'คลัง'ทุกกรณี

นายวิโรจน์ ระบุว่า ที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ หน่วยงานของรัฐที่มีรายได้เป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่ได้มีเพียงกองทัพบกเท่านั้น แต่ยังไม่มีท่าทีจากหน่วยงานอื่นๆ เลย อาทิ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กองทัพ ดังนั้นทางแก้ปัญหานี้ คือการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 61 วรรค 2 และวรรค 3 ที่ระบุว่า "เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ ให้นํามาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือได้ทําความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น เงินนอกงบประมาณนั้นเมื่อได้ใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่หรือการดําเนินงานตามวัตถุประสงค์จนบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการนั้นแล้ว มีเงินคงเหลือ ให้นําส่งคลังโดยมิชักช้า ทั้งนี้ การนําเงินส่งคลังให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนดโดยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี" นั้นควรแก้ไข โดยให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องนำเงินนอกงบประมาณของตนมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลังทุกกรณี และหากมีเงินคงเหลือก็ต้องนำส่งคลังทุกกรณี เช่นกัน

"ตราบใดก็ตาม หากไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในมาตรา 61 ในอนาคต เอ็มโอยูที่เคยทำเอาไว้ในวันนี้ ก็อาจจะถูกยกเลิก หรือถูกเปลี่ยนแปลง โดย ผบ.ทบ. ท่านใหม่ โดยที่ประชาชน ไม่รับรู้เลย ก็ได้ ดังนั้น การจะทำให้กองทัพมีความโปร่งใส ที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่การทำเอ็มโอยู แต่เป็นการเปิดเผยงบการเงินทั้งหมด ทั้งในปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้ และในอนาคต กิจการใด ที่กองทัพไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวพันแล้ว เพราะไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ ก็ควรพิจารณาคืนให้แก่รัฐไป ส่วนกิจการที่ยังดำเนินการอยู่ ก็ต้องเปิดเผยงบการเงินให้สาธารณชนรับทราบ มีการตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานทางบัญชีอย่างถูกต้อง โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมกับผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเร่งด่วน" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง