ในภาวะเช่นนี้ ความกังวลต่อข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ แต่สำหรับหลายคน นี่อาจทำให้ปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้วเลวร้ายลง ซึ่งเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี ได้เผยแพร่บทความแนะนำวิธีการสำหรับการดูแลสุขภาพจิตในช่วงที่ต้องรับมือทั้งกับข่าวสาร การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงาน ในยามที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาด
จำกัดการรับข่าวและระมัดระวังกับข้อมูลที่อ่าน
'นิค' คุณพ่อลูกสองจากเมืองเคนท์ สหราชอาณาจักร ซึ่งมีภาวะวิตกกังวลอยู่แล้วยอมรับการอ่านข่าวจำนวนมากเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ทำให้เขาต้องเผชิญกับอาการแพนิก เวลากังวลก็ควบคุมความคิดไม่ได้และมักจะนึกถึงผลลัพธ์ที่เป็นเรื่องเลวร้าย โดยคนที่เขาเป็นห่วงตอนนี้คือพ่อแม่และบรรดาคนสูงวัยที่เขารู้จัก
อย่างไรก็ตาม การใช้เวลานานประมาณหนึ่งอยู่ห่างจากเว็บไซต์ข่าวและโซเชียลมีเดีย สามารถช่วยเขาจัดการความวิตกกังวลของตัวเองได้ และยังพบว่าสายด่วนช่วยเหลือที่ดำเนินการโดยมูลนิธิด้านสุขภาพจิตหลายแห่งนั้นมีประโยชน์ ซึ่งบีบีซีระบุว่า สิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อลดความกังวลก็คือ จำกัดเวลาในการอ่านหรือดูสิ่งที่ไม่ทำให้รู้สึกดีขึ้น โดยอาจต้องตัดสินใจกำหนดเลยว่าจะใช้เวลาช่วงไหนในการเช็กข่าวสาร
นอกจากนี้ การยึดข้อมูลจากแหล่งที่มาซึ่งเชื่อถือได้ เช่น จากเว็บไซต์รัฐบาลและระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ก็สำคัญเช่นกัน
พักเบรกจากโซเชียลมีเดียและซ่อนการแจ้งเตือนที่จะกระตุ้นความกังวล
'อลิสัน' วัย 24 ปี จากเมืองแมนเชสเตอร์ มีความกังวลเรื่องสุขภาพและรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องได้รับข้อมูล แต่ในขณะเดียวกัน ก็รู้ดีว่าโซเชียลมีเดียสามารถเป็นตัวกระตุ้นความกังวลได้ เช่น เมื่อคลิกเข้าไปตามแฮชแท็กต่างๆ แล้วได้เห็นข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันก็ทำให้รู้สึกกังวล ทำให้ตอนนี้เธอเลือกที่จะระมัดระวังในการเข้าไปอ่านคอนเทนต์ในแอคเคาท์ต่างๆ และหลีกเลี่ยงการคลิกเข้าไปในแฮชแท็กโคโรนาไวรัส
นอกจากนี้ ยังพยายามอย่างหนักที่จะพักเบรกจากโซเชียลมีเดียและหันไปดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือแทน ซึ่งบีบีซีระบุว่าการ mute คำสำคัญบางคำบนทวิตเตอร์หรือบัญชีผู้ใช้งานบางบัญชี หรือซ่อนบางโพสต์บนเฟซบุ๊กและฟีดต่างๆ หากพบว่าข้อมูลล้นเกินไปก็เป็นอีกทางที่ช่วยได้
รักษาการติดต่อกับคนรอบตัว
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส เราได้เห็นคนจำนวนมากขึ้นที่แยกกักตัวเองเพื่อเฝ้าระวังหรือป้องกันโรค ไปจนถึงการใช้มาตรการเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) เพื่อชะลอการระบาดของไวรัส ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ไม่ต้องพบปะกัน
บีบีซีแนะนำว่าในช่วงเวลาเช่นนี้ถือเป็นเรื่องดีที่จะเช็กให้แน่ใจว่ามีหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมลที่ถูกต้องของบรรดาคนรอบตัวที่เราเป็นห่วงหรือไม่ ขณะเดียวกัน หากต้องกักตัวเองหรือแยกตัวเองออกมาจากคนอื่น ก็ต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างกิจวัตรที่ต้องทำประจำวันกับส่วนอื่นๆ ด้วย
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้เผยแพร่คำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิตในช่วงที่ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมทั้งการลดการตีตราผู้ที่ติดเชื้อหรือเคยติดเชื้อไวรัส จำกัดการรับชม การอ่านหรือการรับฟังข่าวที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวลหรือเครียด โดยพยายามหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้นและกำหนดเวลาที่ชัดเจนในรับข่าวสารเป็นหนึ่งหรือสองครั้งต่อวัน เนื่องจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสที่มีขึ้นทันทีทันใด และหลั่งไหลมาเกือบตลอดเวลา สามารถทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นกังวลได้ พร้อมย้ำว่าควรรับข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข่าวลือหรือข้อมูลที่ผิดพลาด