ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ คุยกับ สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) เรื่องเงินดิจิทัลฯ ทั้งในมิติความจำเป็น ความเป็นไปได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตลอดจนผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับดังคำที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับนโยบาย Digital Wallet คือการออกแถลงการณ์ของ 99 นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมคัดค้านโครงการนี้ โดยให้เหตุผลหลักๆ อาทิ เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัว ไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นภาคบริโภค, ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal mutiplier) ที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้เกินจริง และอาจก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขึ้นสูง บวกกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่มี ว่างทางการคลัง' (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต 

ทว่าในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ก็มีส่วนที่มองต่าง บ้างตั้งข้อสังเกตถึงข้อคิดเห็นในแถลงการณ์ ว่ายังขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทั้งตัวเลขที่นำมาอ้างอิงคลาดเคลื่อนหลายจุด อาทิ ‘ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier)’ ที่กล่าวว่าต่ำกว่า 1  หรืออัตราส่วนรายรับจากภาษีต่อ GDP 

สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง  (มูลนิธิ สวค.) คือหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ ที่คลุกคลีกับกับการทำแบบจำลองทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ประเมินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาทิ ประเมินเงินกู้ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงโควิด 2663-2564 จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ในมิติผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 

สุทวิทย์ให้ความเห็นเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลฯ ในอีกแง่มุมต่อสาธารณะ เขามองนโยบายนี้อย่างไร ทั้งในมิติความจำเป็น ความเป็นไปได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตลอดจนผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับดังคำที่รัฐบาลกล่าวอ้าง 

เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวหรือถดถอยกันแน่? 

สุวิทย์ ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจ GDP growth rate ของประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตเฉลี่ยเพียง 2% เท่านั้น โดยเขาเริ่มต้นตั้งคำถามว่า จากตัวเลขดังกล่าว การที่นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ 99 คนชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวนั้น แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ 

“เวลาเค้กใหญ่ขึ้นปีละ 2% คนที่ไม่ได้ส่วนแบ่งเค้กเลยคือ 'คนข้างล่าง' ส่วนคนชั้นกลางก็พอกล้อมแกล้มอยู่ได้ แต่ถ้าไปเปิดสมุดบัญชีคนชนชั้นกลางตอนนี้ ทุกคนบอกว่า 'มันตัวแดง' ประกอบกับหนี้ครัวเรือนมันสูงขึ้น” 

สุวิทย์ยังชี้ให้เห็นไทมไลน์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ ว่า 

เดือนพฤษภาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.6  ต่อมา สภาพัฒน์เปิดเผย GDP ไทยไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 1.8% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะโต 3% (เทียบรายปี) และชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสที่ 1/2566 ทำให้ ธปท. ต้องคาดการณ์ใหม่ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.8% ในปี 2566 ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 3.6%

“ด้วยสภาพเช่นนี้ ผมการันตีได้เลยว่า อีก 2 เดือน ธปท.ก็จะลด GDP ของประเทศลงอีก อีก ทั้งจีดีพีไตรมาส 3 ปัจจุบันเพิ่งจบไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ กำลังรวบรวมตัวเลข ซึ่งตัวเลขก็จะไม่ถึง 2%” 

ในฐานะนักเศรษศาสตร์ที่ทำงานขลุกกับการติดตามตัวเลขและแบบจำลองทางเศรษฐกิจ สุวิทย์ยืนยันว่า เศรษฐกิจของประเทศไม่ดี สิ่งที่จะตามมาคือ ภาระที่คนชนชั้นล่างต้องแบกรับ และปัญหาทางสังคมอีกมากมาย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ ประเทศไทยในปีหน้า จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่แบบแรงๆ ส่วนวิธีการควรเป็นอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินและการคลังนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อ 

‘คูปองดิจิทัล’ ใช้คนกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเยียวยา

สุวิทย์ เท้าความย้อนไปในช่วง 2550-2554 เมื่อครั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำ ‘โครงการไทยเข้มแข็ง’ ออก พ.ร.ก.เงินกู้วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยโครงการนี้คือการจ่ายเงินผ่านผู้รับเหมา-ผ่านหน่วยงานราชการ เพื่อเอาไปทำถนน บ้านพัก สะพาน ฯลฯ  สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ เงินไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะต้องผ่านกระบวนการทั้งราชการและเอกชนหลายด่าน 

ส่วนเงินกู้ปี 2563 ช่วงโควิด 1 ล้านล้านนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายกับโครงการไทยเข้มเเข็ง คือเงินที่จ่ายเยียวยาโควิดและวัคซีนที่ต้องนำเข้า 100% ไม่ได้ถูกใช้ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รั่วออกนอกประเทศไปกับการนำเข้าวัควีนกว่า 6 หมื่นล้านบาท

“ภายใต้ พรก. เงินกู้โควิดปี 2563 มีโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ  แต่กระบวนการอันเดียวกับ ‘ไทยเข้มเเข็ง’ มีการเยียวยากลุ่มคนเปราะบางเต็มไปหมด ซึ่งตอนปี 2563 เศรษฐกิจดิ่งทั่วโลก เราอัดเงินเข้าไปเหมือนการโยนก้อนหินเข้าไปในน้ำนิ่ง แล้วหวังที่จะให้น้ำมันกระเพื่อม หวังว่าเศรษฐกิจมันจะหมุน ซึ่งยากมากครับ fiscal multiplier มันเหลืออยู่ประมาณ 0.7-0.8 เท่านั้น”

ปี 2564 โลกเริ่มฟื้นตัว หลายประเทศเลิกล็อกดาวน์ รัฐบาลไทยอัดอีกกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้าน โดยส่วนหนึ่งใส่เข้าไปใน SMEs ด้วย เมื่อสถานการณ์โลกเอื้อในระดับหนึ่ง fiscal multiplier จึงขึ้นมาเป็น 1.1 

สุวิทย์ มองว่า ‘คูปองดิจิทัล’ ซึ่งใช้เงิน 5.6 แสนล้าน โครงการนี้ต่างออกไปจากการกู้เงินครั้งก่อนๆ นั่นคือ การให้คนทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ผ่านผู้รับเหมา (สุวิทย์ย้ำว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการเยียวยา) เพื่อที่จะให้เงินลงไปยังทุกพื้นที่

“หลักสำคัญคือ เมื่อเราใช้คูปองดิจิทัลไปแล้ว ในรอบถัดไปมันจะไม่ใช่คูปองแล้ว มันเปลี่ยนเป็นเงินปกติที่ไม่หมดอายุแล้ว เราต้องเข้าใจบริบทตรงนี้ แล้ว  fiscal multiplier ที่เกิดขึ้น มันจะมีค่าสูงกว่าทั้งไทยเข้มแข็งและการกู้เงินช่วงโควิดทั้ง 2 ครั้ง”

Fiscal Multiplier คืออะไร สำคัญหรือไม่ คาดการณ์อย่างไร 

Fiscal Multiplier หมายถึง สัดส่วนที่บอกถึงการเพิ่มขึ้นของ GDP เมื่อภาครัฐเพิ่มการใช้จ่ายหรือลดภาษี เช่น การผันเงินจากรัฐบาลสู่มือประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหวังให้การใช้จ่ายสร้างผลต่อการผลิตและรายได้อย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ผ่านการหมุนเวียนของเม็ดเงินของโครงการในระบบเศรษฐกิจ ยิ่งเม็ดเงินมีจำนวนรอบที่หมุนเวียนมาก มูลค่าการผลิตและรายได้ก็จะยิ่งเติบโตมากเป็นทวีคูณ สิ่งนี้เรียกว่า ‘ตัวทวีคูณทางการคลัง’ (fiscal multiplier)’ 

สำหรับ fiscal multiplier หรือ  ‘ตัวทวีคูณทางการคลัง’ กลายเป็นหนึ่งในข้อถกเถียง ณ ขณะนี้ ยังมีคำถามว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลเพื่อไทยประเมินมูลค่าของผลทวีคูณสูงเกินจริงไปหรือไม่ เนื่องจาก

  1. รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า จากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดพบว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ (fiscal multiplier) คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1-1.6 ล้านล้านบาท 
  2. ด้าน 99 นักเศรษฐศาสตร์​ออกแถลงการณ์ชี้ว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal mutiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1  

ในความงุนงงของประชาชนว่าเศรษฐกิจจะหมุนกี่รอบกันแน่ รวมทั้งตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal mutiplier)  ที่ว่ามันเท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน แล้วส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคืออะไร สุวิทย์พาเราไปทำความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ 

สมมุติรัฐบาลแจกเงินให้เรา 100 บาทเพื่อเอาไปใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทย 2 กรณีคือ 

  1. คนที่รับเงิน เอาไปเก็บออมไว้ ไม่ได้เอาไปใช้จ่ายต่อ
  2. เอาไปซื้อไวน์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (เงินก็ไหลออกไป)

ส่วนเงินที่จะไหลกลับมา คือเงินส่วนที่เราเอาไปซื้อของที่มี ‘ภาษี’ อยู่ในนั้น และกลายเป็น ‘รายได้รัฐ’ กลับคืน 

ยกตัวอย่างเช่น 

  • นาย A ได้เงินจากรัฐมา 100 บาท โดยเอาเงินนี้ไปใช้จ่ายที่ร้านหมูกะทะ 
  • เจ้าของร้านหมูกะทะนั้น รับเงินจากลูกค้าไป 100 บาท แต่ใช้จ่ายต่อแค่ 80 บาท อีก 20 บาท เก็บออมไว้ 
  • ถ้าเจ้าของร้านหมูกะทะ ซื้อหมูที่นำเข้าจากต่างประเทศ เงินค่าหมูก็ออกนอกประเทศไปเลย 
  • ถ้าเจ้าของร้านหมูกะทะ ไปซื้อของที่แมคโคร แล้วหมูที่แมคโครเขียนไว้ว่า มี Vat อยู่ด้วย แปลว่าแมคโครได้เงินค่าหมูส่วนหนึ่ง แล้วต้องแบ่งให้รัฐส่วนหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า การหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ไมไ่ด้หมุนด้วยเงินตั้งตอน 100 ตลอด แต่เงินจะรั่วออกเรื่อยๆ จากการเก็บออมและการซื้อของนำเข้า 

“กระบวนการตรงนี้ ถ้าเราคิดจากเงินก้อนแรก คือเงินค่าหมูกะทะ เงินมันก็ถูกจ่ายเป็นทอดๆ ไป เขาเรียกว่า 'กระบวนการสร้างจีดีพี' ซึ่งมันจะเกิดเป็นรอบๆ ไป จนกระทั่งว่า มันจะไม่สร้างจีดีพีอีกแล้ว”

สุวิทย์อธิบายต่อว่า ในกระบวนการสร้างจีดีพีแต่ละขั้น ทุกคนได้ส่วนแบ่ง อาทิ เจ้าของร้านหมูกะทะ เจ้าของร้านขายผัก เจ้าของเขียงหมู เจ้าของตลาด ฯลฯ โดยส่วนแบ่งนี้ ถ้าบวกมูลค่าเพิ่ม และบวกทุกอย่างในกระบวนการเข้ามาด้วยกัน เราจะเรียกว่า จีดีพี (GDP) ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าเป็นในสาขาอาหารหรือโรงแรม เงินมันก็จะหมุนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่หยุดหมุนใช้เวลาประมาณ  3 ปี 

นั่นหมายความว่า กระบวนการสร้างจีดีพีมันไม่ได้เกิดขึ้นวันเดียว แต่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เงินมันหมุนไป 

“ผมลองรวมเลขต่างๆ เริ่มต้นจากเงิน 100 บาทที่รัฐบาลให้มา แล้วผมเอาไปใช้จ่ายจนมันหมุนตลอด 3 ปีในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ พบว่ารวมกันแล้ว มันสร้างจีดีพี เกิน 100 บาทที่ผมได้มาจากรัฐบาล จากนั้นเอา 100 กว่า หารด้วยรายจ่ายรัฐบาล 100 ค่าที่ได้คือ เกิน 1 แน่นอน” 

“ดังนั้น ถ้าคนไปคิดแค่ 1 ปี รอบเดียว คำนวนออกมาแล้ว fiscal multiplier ก็จะไม่ถึง 1 แต่ถ้าคุณเอารอบที่ 2 3 4 5 ของการหมุนโดยธรรมชาติมาคำนวณด้วย มันก็จะได้ 1% กว่าๆ” 

“ถ้าผมโยนก้อนหินลงไปในน้ำที่นิ่ง มันก็จะเกิดแรงกระเพื่อมเบาๆ แต่ในยามที่น้ำมันไหล แล้วเราโยนหินลงไป แรงกระเพื่อมมันจะเยอะ” 

เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คืออะไร? 

สุวิทย์อธิบายผ่านตัวอย่างดังนี้ 

  • สมมุติรัฐบาลให้เงินมา 100 คนเอาไปจ่ายร้านหมูกะทะ ร้านก็บันทึก 100  บาท 
  • จากนั้นร้านหมูกะทะเอาเงิน 80 บาทไปซื้อหมูที่แมคโคร แมคโครก็จะบันทึกไว้ 80 บาท
  • แมคโครนำเงินจำนวนหนึ่งไปซื้อหมูซื้อผักจากเกษตรกรมาขาย เกษตรกรก็จะบันทึกไว้

“ถ้าเราเอา 'รายได้ของร้านหมูกะทะ แมคโคร เกษตรกร  มาบวกกัน'  แล้วเอามาหารด้วย 100 บาทที่รัฐบาลจ่ายมาตอนแรก มันจะมีค่าอยู่ประมาณ 3 เท่า”

โดยสรุป สุวิทย์กล่าวว่า การถกเถียงที่ผ่านมานั้น เกิดจากการคุยกันบนพื้นฐาน ‘คนละตัวเลข’ กัน ดังนั้น เวลาเถียงกันว่า fiscal multiplier  มัน 3 เท่าหรือไม่นั้น ความหมายคือ  จำนวน 3 เท่านี้ จะเอาไว้ประเมิน ‘รายได้รัฐกลับคืน’ หรือเอาภาษีกลับคืนมาได้เท่าไหร่ 

“โดยธรรมชาติ ภาษีมี Vat  7%  แต่ต้องอย่าลืมว่า บางทีคนมากินร้านหมูกะทะเยอะๆ หรือมีคนมาพักโรงแรมเยอะๆ บริษัทห้างร้านต่างๆ มีรายได้และมีกำไรเพิ่มขึ้น และเขาเสียภาษีมากขึ้น ดังนั้น นอกจาก Vat แล้ว รัฐยังได้ภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดากลับมาด้วย ดังนั้นมันจะไม่ได้ใช่ 7% แต่มันจะกลายเป็น 13-14% เรียกว่า Effective Tax Rate (ETR)”  

“จากนั้นเอา Effective Tax Rate (ETR) ไปคูณกับรายได้เงินที่หมุน มันก็จะคำนวณกลับมาได้ว่า เงินที่รัฐบาลจ่ายไป ท้ายที่สุดแล้วในกรอบ 3 ปี (ระยะเวลาในการคำนวณ) จะได้ภาษีทั้งหมดกลับมาเป็นรายได้รัฐเท่าไหร่ ”

สุวิทย์กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์สายแบบจำลองจะใช้หลักการทั่วไป (rule of thumb) คือ ถ้าจีดีพีเพิ่ม 1% รายได้รัฐบาลก็จะเพิ่ม 1% เท่ากัน  (1 ต่อ 1) ดังนั้น ถ้ารัฐบาลใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1% รายได้รัฐจะกลับคืนมา 1%

ปัจจุบัน จีดีพีของประเทศทั้งหมดคือ 18 ล้านล้าน แต่ภาษีหรือรายได้รัฐอยู่ที่ 2.6-2.7 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้น ถ้ารัฐบาลใดก็ตามทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น เช่นโตขึ้นจาก 2% ไปถึง 3%เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่ชาวบ้านหรือธุรกิจได้อย่างเดียว แต่รัฐบาลได้ด้วย  เพราะรายได้รัฐกลับมาในรูปแบบภาษี

“นี่คือกลไกของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น คนที่ว่า  fiscal multiplier จะต่ำกว่า 1 ผมขอให้เขาไปทบทวนดูใหม่ แล้วให้เขาดูสมมุติฐานด้วยว่า เขาใช้กรอบระยะเวลาเท่าไหร่ในการคำนวณ​ แล้วได้ดูผลกระทบทางตรง (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ สาขานั้นๆ) ทางอ้อม (สิ่งที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของสาขานั้นๆ) และผลกระทบเหนี่ยวนำ (เมื่อคนในสาขานั้นๆ ได้เงิน เกิดการจ้างงาน บริโภค และลงทุนเพิ่ม) ครบแล้วหรือยัง เพราะสามผลนี้เมื่อเอามาบวกกัน เราจะพบรายได้ต่อการใช้จ่ายภาครัฐที่จ่ายไป นี่คือวิธีการที่จะหาคำตอบ”

สุวิทย์สรุปว่า การที่มีการประเมินว่า เม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ  คือ ‘เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ’ ไม่ใช่ ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ซึ่งระหว่างที่เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ เงินที่รั่วออกไปเป็นทอดๆ เช่นจาก 100 เหลือ 80 เหลือ 60 , 50, 30, 1, 0.5 นี่คือธรรมชาติของการหมุน 

จากนั้นเอาเงินทั้งหมดมาบวกกัน 100+80+50+50+30+1+0.5 บวกแล้วเอามาหารด้วยรายจ่ายที่รัฐใส่ไปก้อนแรก หารออกไปแล้วมันจะได้ประมาณ 3 เท่า นี่คือกรอบคิดของพรรคเพื่อไทย 

ส่วนคอนเซ็ปของ fiscal multiplier นั้น สุวิทย์อธิบายว่า “สมมุตินาย A ได้เงินมา 100 จ่ายไป 80 บาท ซึ่งใน 80 คือจีดีพีอยู่ 2 ตรงนั้นผมก็จะบันทึกไว้ 2 พออีกคนเอา 80 ไปใช้จ่ายให้อีกคนหนึ่ง 60 บาท แล้วจีดีพีเกิดขึ้นตรงนั้น 3 แล้วรอบถัดๆ ไปจีดีพีได้ 5 บ้าง 10 บ้าง สรุปแล้ว การจ่ายเงินเป็นทอดๆ แล้วออกมาเป็นจีดีพี เราก็เอาค่าจีดีพีนั้นมาเป็นตัวเศษแล้วหารด้วยเงินที่รัฐจ่ายไป มันก็จะได้ประมาณ 1 นิดๆ” 

“ซึ่งแล้วแต่สาขาด้วยนะ บางสาขาการผลิตอาจได้ 1.5 หรือ 1.6 ก็ได้ หรือสาขาที่ไม่กระดิกเลยก็มี” 

หนี้สาธารณะต่อจีดีพีท่วมหัว ควรกังวลหรือไม่?

หนึ่งในข้อกังวลของ 99 นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ คือ การเตรียม ‘พื้นที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต หากรัฐบาลกู้เงินเพิ่มเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (creditrating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

โดยปัจจุบัน หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 61.8% (ปี 2564 รัฐบาลได้ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจากเดิมต้องไม่เกิน 60% เป็น 70% ต่อ GDP) 

สุวิทย์  อธิบายหลักการคำควณหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ง่ายๆ ดังนี้ 

  • หนี้สาธารณะ มีลักษณะคือ เป็นเงินคงค้าง ที่แต่ละรัฐบาลก่อขึ้นมานาน
  • จีดีพี จะถูกสร้างในแต่ละไตรมาส แต่ละเดือน แต่ละปี 

กล่าวได้ว่า หนี้สาธารณะคือ ‘stock’ ส่วนจีดีพีของ ‘flow’ ที่เข้ามาตลอดไม่หยุดนิ่ง อย่างประเทศไทย หากเราเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาบวกกันเป็นจีดีพี จะอยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ 11 ล้านล้านบาท คิดออกมาแล้วคือ 61.8% ต่อจีดีพี

“สิ่งที่นักวิชาการกังวลคือ ถ้ารัฐบาลกู้อีก ท้ายที่สุดแล้วหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุเพดาน 70% นะ แล้วถ้าเกิดวิกฤติอะไรต่างๆ รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มไม่ได้แล้วนะ”

วิธีการคิดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น คือการเอา ‘หนี้สาธารณะ’ เป็นตัวตั้ง แล้วเอา ‘จีดีพี’ มาเป็นตัวหาร หากรัฐบาลทำให้ตัวส่วน (จีดีพี) เป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นกว่าตัวเศษ (หนี้สาธารณะ) จะทำให้ค่าเฉลี่ยหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง 

สิ่งสำคัญคือ หากกู้เงินมาแล้ว รัฐบาลทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นหรือเปล่า 

“ถ้ารัฐบาลกู้เงินมา หนี้เพิ่มแน่นอน แต่สาระสำคัญคือ เงินที่กู้มาทำให้จีดีพีเพิ่มด้วยหรือไม่ ถ้าหนี้เพิ่ม 3% แล้วรัฐทำให้จีดีพีโตขึ้น 5% แปลว่าเปอร์เซ็นต์ของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะมีค่าลดลง หนี้สาธารณะ 61.8% ก็จะลดลงมาเหลือ 60% ก็ได้”

สุวิทย์มองว่า ประเทศไทยไม่เคยมีหนี้ลดลง ซึ่งไม่ต้องลดลงก็ได้ หากรัฐบาลทำให้ ‘รายได้’ วิ่งเร็วกว่าหนี้ ซึ่งหากทำได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลใดๆ ยกเว้นเสียแต่ว่า รัฐบาลกู้เงินไปทุจริต ไม่ได้เอาเงินมาหมุนในระบบเศรษฐกิจ เช่น เอาไปซื้อเรือดำน้ำหรือซื้ออะไรที่ไม่เกิดผลิตภาพ นั่นแหละที่เรียกว่า ‘หนี้เลว’

“ข้อที่ 99 นักเศรษฐศาสตร์กังวลคือ ทำไมไม่เอาเงินไปทำโครงสร้างพื้นฐาน คำตอบคือ โครงการต่างๆ มันดำเนินการอยู่แล้ว ณ วันนี้มันเยอะแล้ว ไม่ว่าจะสนามบินอู่ตะเภา อีอีซี รถไฟฟ้าความเร็วสูง เมืองใหม่ที่ศรีราชา รัฐก็ให้สิทธิ์เอกชนดำเนินการอยู่ ไม่ต้องทำสนามบินทุกจังหวัดก็ได้ หัดแชร์ทรัพยากรกันเสียบ้าง 

สรุปในประเด็นนี้ได้ว่า  ‘พื้นที่ว่างทางการคลัง' (fiscal space)’  สามารถเพิ่มได้ ถ้าหนี้ที่ก่อเพิ่มขึ้นนั้น ต่ำกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สามารถทำให้จีดีพีโต 5% ได้ดังที่ประกาศไว้ แล้วก่อหนี้ไม่เกิน 5% ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี (ปัจจุบัน 61.8%) จะลดลง ซึ่งนั่นแปลว่า ‘ที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space)  จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

‘คูปองดิจิทัล’ ข้อควรระวัง 

สุวิทย์ ชี้ข้อควรระวังในการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล และความเสี่ยงที่จะทำให้เงินที่รัฐจ่ายไปกับโครงการ มีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่ควร ดังนี้ 

1. ดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การที่รัฐไปกู้เงินแข่งกับเอกชนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจน้อยลง เนื่องจากเดิมได้มีการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 ไว้ที่ 30 ล้านคน แต่ตัวเลขที่มาจริงมีแค่ 25-28 ล้านคน ทำให้จากที่เคยคาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีรายได้เข้าประเทศเยอะเพื่อให้สภาพคล่องในระบบธนาคารและในประเทศสูง กลับต่ำในความเป็นจริง 

“เมื่อสภาพคล่องต่ำ ดอกเบี้ยก็ขึ้น ภาระงบประมาณของภาครัฐก็สูงขึ้น เหมือนคนเป็นหนี้อยู่แล้วดอกเบี้ยขึ้นนั่นและ ทำให้การเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอยทำได้น้อยลง แทนที่รัฐบาลจะเอาเงินไปทำนู่นนี่นั่น แต่กลับเอาไปใช้จ่ายได้ไม่มาก เพราะต้องกันเงินไปชำระหนี้ที่แพงขึ้น นี่คือความเสี่ยง”

2. แหล่งเงินที่รัฐเอามาทำโครงการเงินดิจิทัล สุวิทย์กล่าวว่า รัฐบาลอาจเลือกใช้บางวิธีที่หาญกล้าในทางการเมือง เช่น ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นออกมาบ้าง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องถือไว้เยอะ และสามารถเอาเงินมาใช้ได้ 

วิธีนี้ในเชิงธุรกิจถือว่าเป็นเรื่องปกติมากในการขายหุ้น 1-2% แต่ทว่าในทางการเมือง วิธีนี้ยากมาก และรัฐบาลจะโดนข้อหา 'ขายชาติ' ทันที

“ถ้ารัฐบาลให้ธนาคารของรัฐที่เข้มเข็งมารวมตัวกัน อย่างธนาคารออมสิน ธอส. ฯลฯ ที่มีความสามารถในการจ่ายเงินออกไปก่อน แล้วตั้งงบประมาณทยอยจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ไม่กระทบต่อสภาพคล่องในตลาดมากนัก”