ไม่พบผลการค้นหา
'ชุมสาย' ยก 8 ข้อ ส.ว.ต่างตอบแทน ควรฟังเสียงนักศึกษาประชาชน ย้อนถามเรามี ส.ว.แบบนี้ได้อย่างไรและเพื่อใคร จี้เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ

ชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภามีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 โดยการเลือกตั้งทางอ้อม ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ส.ส. ตรวจสอบกลั่นกรองกฎหมาย เมื่อย้อนไปดูที่มาที่ไปของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน มีข้อพิจารณาดังนี้

1.ส.ว.ชุดปัจจุบัน 250 คน แม้จะมาจากคณะกรรมการสรรหาแต่สุดท้ายต้องผ่านมือหัวหน้าคณะ คสช.ที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารมาเมื่อ 22 พ.ค. 2557 เกือบทั้งสิ้น ซึ่งไม่มีจุดยึดโยงอะไรกับประชาชนเลย

2.รธน.2560 บัญญัติให้อำนาจ ส.ว.ในการออกเสียงโหวต เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งไม่มีประเทศระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลกนี้เขาทำกัน

3.เมื่อได้เป็น ส.ว.แล้ว ส.ว.ทั้ง 250 คนได้ลงมติโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพร้อมเพรียงกันทุกคน

4.รธน.มาตรา 256 (3) บัญญัติว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีเสียง ส.ว.เห็นชอบ 3 ใน 4 หรือ 84 คน เห็นชอบในขั้นรับหลักการวาระที่ 1 จึงจะทำได้

5.รธน.มาตรา 269(1) ค.มีการกำหนดให้ ผบ.เหล่าทัพและ ผบ.ตร เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ซึ่งถือว่ามีความยึดโยงกับกองทัพโดยตรง ถือเป็นการเปิดช่องในการก้าวก่าย แทรกแซง รัฐสภาจากกองทัพได้

6. ส.ว.จำนวนหนึ่งเป็นน้องชาย และเป็นบุคคลใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะในฐานะหัวหน้า คสช.และหัวหน้าคณะปฏิวัติ

7.ในการประชุมและลงมติของ ส.ว.จำนวน 145 ครั้ง มี ส.ว.ประมาณ 10 คนขาดการประชุมและลงมติ 100 กว่าครั้งในจำนวนนี้ขาดประชุมและลงมติเกิน 140 ครั้ง จำนวน 5 คน โดยมีเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งรวมกันเฉลี่ยต่อคน จำนวน 113,560 บาท

8.มีอดีตรัฐมนตรีและ สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะ คสช.ได้รับการสรรหากลับเข้ามาเป็น ส.ว.ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน 

9. รธน.2560 มาตรา 269(4) บัญญัติให้ ส.ว.ชุดนี้ดำรงตำแหน่ง 5 ปี เท่ากับว่ามีสิทธิ์โหวตเลือกนายก 2 สมัย 

ชุมสาย ระบุว่า เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ตนจึงขอถามท่าน ส.ว.ผู้ทรงเกียรติว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ประเทศเราจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

"ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยคำถามคือ ประเทศไทยเรามี ส.ว.แบบนี้ได้อย่างไร และเพื่อใคร ส.ว.ชุดนี้ควรสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักศึกษาและประชาชน หรือไม่" ชุมสาย กล่าว

ด้าน นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรนีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงรัฐบาลก็ได้แถลงเรื่องนี้เป็นนโยบายต่อสภาไปแล้ว แต่ที่ต้องรอความชัดเจนคือรัฐบาลจะแก้มาตราใด เรื่องอะไร เนื่องจากยังไม่มีการพูดชัดเจนในเนื้อหา ซึ่งคงต้องรอฟังจากฝ่ายรัฐบาลอีกครั้ง ในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น

อาจมี 3 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 แก้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญหรือแก้มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรานี้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ค่อนข้างมากและยาก เพื่อแก้ให้คลายลงกลับมาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของรัฐสภา แนวทางที่ 2 คือแก้เนื้อหารายมาตรา และแนวทางที่ 3 คือแก้ให้มีตัวแทนประชาชนไปร่างรัฐธรรมนูญในรูปสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ซึ่งมีเสียงของกรรมาธิการวิสามัญของสภาและพรรคการเมืองหลายพรรครวมทั้งพรรคเพื่อไทยเสนอแนวทางนี้  

"คนไทยกำลังรอติดตามว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเลือกแนวทางใดบ้าง หรือจะเสนอแนวทางแรกคือแก้ไขเฉพาะมาตรา 256 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องถามว่าจะทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นอย่างไร ตนเห็นว่าการแก้ไขควรต้องทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้ากติกาเป็นธรรมจะนำไปสู่ความปรองดอง และทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านประชาธิปไตยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ ที่สำคัญต้องดีไซน์กติกาเพื่อประเทศไทย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :