นักท่องเที่ยวหลายคนในสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาหนักหน่วงเกี่ยวกับ ‘อุจจาระ’ เมื่อพวกเขาหลายคนพบว่า เบื้องหลังก้อนหินจำนวนมากเต็มไปด้วยของเสียไม่พึงประสงค์ ทำให้ต้องคอยระแวดระวังตัวเองในทุกย่างก้าว และเมื่อคิดจะหย่อนก้นลงนั่ง หรือหยุดตั้งแคมป์ ต้องตรวจสอบบริเวณการเตนท์อย่างละเอียด เพื่อไม่ให้ทับร่องรอยอารยธรรมของนักเดินทางกลุ่มก่อนหน้า แถมบริเวณจุดเกิดเหตุก็มักพบกระดาษชำระใช้งานแล้วปลิวว่อน
ตามอัตราเฉลี่ยแล้วใน 1 วัน มนุษย์จะขับถ่ายอุจจาระออกจากร่างกายในปริมาณครึ่งกิโลกรัม ทว่าหากยึดตามตัวเลขของกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ (National Park Service (NPS) หน่วยงานรัฐบาลที่คอยดูแลอุทยานพบว่า ในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปในเขตอุทยานมากถึง 331 ล้านคน ทำให้เกิดของเสียจากบรรดานักท่องเที่ยวอาจจะตกค้างอยู่ในอุทยานเป็นจำนวนสูงถึง 166,550 ตัน
แม้อุจจาระจะเป็นสิ่งที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่มันไม่ใช่กับทุกสถานที่ ในปี 2011 ไมเคิล โลโซ (Michale Loso) นักวิจัยชาวอเมริกัน ได้ทดลองนำอุจจาระไปฝังบนเบสแคมป์ระหว่างทางไปยอดเขาเดนาลี (Denali) โดยฝังลงลึก 6 ฟุต และปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน 1 ปีก่อนจะขุดขึ้นมาทดสอบอีกครั้ง
หลังเวลาผ่านไปไมเคิลพบว่า อุจจาระที่ฝังเมื่อปีก่อนยังคงเต็มไปด้วยกลิ่นไม่พึงประสงค์ และแบคทีเรียจำนวนมาก เพราะเขาฝังอุจจาระลงใต้หิมะ ซึ่งแสงสว่างไม่สามารถส่องถึง รวมทั้งอุณภูมิก็เย็นกว่าจุดเยือกแข็งเล็กน้อย แน่นอนว่า ทั้ง 2 ปัจจัยส่งผลดีอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
บรรดานักปีนเขาที่มาเยือนธารน้ำแข็งคาฮิลต์นา (Kahiltna) จุดพักระหว่างเดินทางไปยอดเขาเดนาลีระหว่างปี 1951-2012 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 36,000 คน ทำให้อุจจาระที่ถูกทิ้งไว้บนเขาอาจมีจำนวนมากถึง 97,000 กิโลกรัม
นอกจากนั้น งานวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ ยังค้นพบว่า การละลายของน้ำแข็งใกล้แหล่งน้ำบนภูเขาเดนาลีเต็มไปด้วยการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ทำให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติต้องไตร่ตรองเรื่องระเบียบการจัดการขยะ โดยกำหนดจุดทิ้งอุจจาระบนยอดเขาเดนาลีมีเพียงจุดเดียวเท่านั้น และที่ทิ้งจุดถัดไปมีระยะทางไกลจากจุดเดิมถึง 160 กิโลเมตร
คำถามตามมาคือ เหตุใดอุจจาระของมนุษย์ที่ถูกทิ้งไว้ในอุทยานไม่ได้ถูกตีค่าเป็น ‘ปุ๋ย’ เหมือนปุ๋ยคอกที่ทำมาจากมูลสัตว์ หรือปุ๋ยจากการขับถ่ายของมนุษย์ในแบบที่ใช้กันในอดีต
ที่จริงแล้ว อุจจาระของมนุษย์สามารถใช้เป็นปุ๋ยได้ แต่มันไม่สามารถใช้ได้ทันทีที่ออกมาจากร่างกาย และกับพืชทุกชนิด ย้อนกลับไปในยุคกลาง มนุษย์มักใช้ของเสียจากร่างกายตัวเองกลับมาทำเป็นปุ๋ยอยู่แล้ว แต่พวกเขาต้องทิ้งมันไว้ก่อนจะนำมาใช้ในปีถัดไป และใช้กับผลผลิตประเภทธัญพืชที่ตั้งอยู่เหนือดินเท่านั้น เพราะพืชที่อยู่บนผิวดินอย่างแครอท ไม่สามารถใช้น้ำชะละล้างเชื้อโรคจากปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ออกไปได้อย่างเพียงพอ ทำให้เป็นอัตรายต่อเด็กเล็กที่ยังขาดภูมิคุ้มกันบางประเภท
ในสังคมนักปีนเขาของแดนลุงแซมถกเถียงเรื่องดังกล่าวกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ละคนมีแนวทางแก้ปัญหาต่างกันออกไป สมการหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือ หนังสือเรื่อง ‘How to Shit in the Woods: An Environmentally Sound Approach to a Lost Art’ ของแคธรีน เมเยอร์ (Kathleen Meyer) นักเขียนชาวอเมริกัน ที่วางจำหน่ายตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1989 และจำหน่ายไปแล้วกว่า 2.5 ล้านเล่ม โดยบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับกับวิธีเอาตัวรอด และการใช้ชีวิตในป่าดงพงไพร ตั้งแต่จัดการกิจธุระของตนเอง ไปจนถึงแล่หนังสัตว์เลยทีเดียว
ที่มา :