ไม่พบผลการค้นหา
ความงาม ความเป็นชาย และความเป็นเกย์ ที่สะท้อนผ่านกล้ามเนื้อบนร่างกาย

แม้ปัจจุบันเราจะเห็นผู้ชายโชว์กล้ามกันเป็นเร่ืองปกติงบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ตลอดจนละคร และภาพยนตร์ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า นี่เป็นเรื่องปกติในอดีต บางครั้งการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยก็ทำให้เราไม่ทันรู้สึกตัวว่า ความปกติได้เปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อไรกันที่ผู้ชายเริ่มอัพกล้ามมาโชว์กัน และสาเหตุเบื้องหลังคืออะไร


เมื่อกล้ามกลายเป็นต้นทุนของผู้ชาย

ภาพกึ่งเปลือยของผู้ชายตามโลกออนไลน์ รวมถึงสื่อต่างๆ อย่างละคร หรือนิตยสาร กลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่เห็นได้ทั่วไป ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ร่างกายของผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นที่ปรารถนา แต่เรือนร่างก็กลายมาเป็นต้นทุนของผู้ชายเหมือนกัน

ผศ.ดร. จเร สิงหโกวินท์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) อธิบายโดยอ้างอิงงานวิจัยของ เจมี ฮาคิม (Jamie Hakim) ว่าหลังปี 2008 เกิดปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ คือผู้ชายวัยรุ่นถึงวัยกลางคนหันมาดูแลตัวเอง ถ่ายรูปกึ่งเปลือย ถอดเสื้อ โชว์กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะหน้าท้อง เป็นผลจากการออกกำลังอย่างหนัก และมีวินัยในการกิน

งานวิจัยอธิบายว่า กระแสดังกล่าวเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2008 เมื่อผู้ชายที่เคยมีรายได้สูงตกงาน สิ่งที่เรียกความมั่นใจของพวกเขากลับมาได้นั้นก็คือ ยอดฟอลโลว์ที่เพิ่มมากขึ้น มีคนไลก์มากขึ้น จึงเกิดการใช้ภาพกึ่งเปลือยที่แสดงรูปร่างความเป็นชายกำยำเพื่อแสวงหาการยอมรับจากสาธารณชนบนโลกออนไลน์

barbell-biceps-body-1480530.jpg
  • การถ่ายรูปร่างกายที่ได้จากการออกกำลังและควบคุมการกินกลายเป็นเรื่องปกติ

เมื่อย้อนกลับมาดูโฆษณาไทยก็จะเห็นคำกล่าวอย่าง ‘ความหล่อสร้างได้’ หรือ ‘ความหล่อเปิดโอกาสให้ชีวิต’ จึงแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันไม่ใช่แค่เรือนร่างของผู้หญิงเท่านั้นที่ถูกให้คุณค่า แต่ผู้ชายก็สามารถพัฒนาร่างกายที่ตัวเองมีอยู่ให้กลายเป็นสิ่งที่ขายได้ ทั้งในแง่ของการเป็นที่ยอมรับ และการเป็นต้นทุนในทางเศรษฐกิจ อย่างดาราชาย หรือนายแบบที่ต้องถอดเสื้อโชว์กล้ามท้องในละคร ภาพยนตร์ หรือนิตยสาร

แม้ส่วนใหญ่การศึกษาเรื่องเพศมักจะเน้นผลกระทบที่ผู้หญิงประสบจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ แต่จริงๆ แล้วผู้ชายเองก็ถูกกดทับโดยค่านิยมนี้เช่นกัน เพราะผู้ชายที่ไปไม่ถึงอุดมคติของความเป็นชายก็ต้องทุกข์ทรมาน หรือไม่ก็ต้องพยายามพัฒนาร่างกายให้ใกล้เคียงรูปร่างในอุดมคติตามค่านิยมนั้น ต้องไม่อ้วน ไม่ผอม และมีกล้ามเนื้อ ‘สมเป็นชาย’

ที่จริงสังคมไทยนั้นให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตามาแต่ไหนแต่ไร เหมือนคำกล่าวว่า ‘นารีมีรูปเป็นทรัพย์’ ในมุมของผู้ชาย ลิลิตพระลอที่มีการบรรยายถึงความสะโอดสะองของพระลอ ว่า “พระองค์กลมกล้องแกล้ง เอวอ่อนอรอรรแถ้ง ถ้วนแห่งเจ้ากูงาม บารนี” แต่ความงามของร่างกายผู้ชายในอดีตก็เป็นความงามแบบกลางๆ ไม่เน้นที่มวลกล้ามเนื้อแบบในปัจจุบัน


อำนาจเหนือกล้ามกาย

ความงามของชายไทยในอดีตนั้นไม่ได้วัดกันที่กล้าม ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า ในอดีตกล้ามไม่เคยเป็นความงาม หรือความเซ็กซี่ ร่างกายของผู้ชายในสังคมศักดินานั้น เป็นแค่ร่างกายเพื่อการใช้งานภายใต้การควบคุมของเจ้านาย เป็นเครื่องบ่งบองว่า เจ้าขุนมูลนายคนนั้นมีบริวารมากน้อยแค่ไหน

จากนั้น กล้ามกลายมาเป็นภาพของความเข้มแข็ง อดทนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนไทย แยกเพศภาวะ หญิง-ชาย ชัดเจนผ่านร่างกายว่าผู้ชาย และผู้หญิงควรเป็นอย่างไร จึงเริ่มมีการส่งเสริมให้ผู้ชายเล่นกล้ามตามแบบวัฒนธรรมอเมริกา กล้ามจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งอย่างชาย แต่ก็ยังไม่ใช่ความงาม

ผู้ชายมีกล้ามเริ่มถูกมองว่าเซ็กซี่เมื่อธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามีบทบาท ในสมัยหลังรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เริ่มรณรงค์ให้เปิดประเทศแล้วเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจ

กระทั่งเป็นยุคทองในยุคที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ หลังปี 2530 เป็นต้นมา ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการ การเติบโตของชนชั้นกลางก็ทำผู้ชายเริ่มสนใจดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง ไม่ได้สนใจกล้ามในฐานะความอดทน เข้มแข็ง แต่สร้างกล้ามให้สวยงามตามคู่มือโดยเชื่อว่าจะเพิ่มความดึงดูดทางเพศ

ทว่าดร.นฤพนธ์ ชี้ว่า คนเราไม่ได้เลือกบำรุงร่างกาย และสร้างกล้ามด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ผู้ชายถูกบงการจากชีวอำนาจ (ฺBiopower) ตามแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส

ชีวอำนาจ คืออำนาจเหนือชีวิตที่ควบคุมเราผ่านความรู้ และวาทกรรม โดยเฉพาะในระบบการศึกษา มันเป็นอำนาจที่มองเห็นยาก เพราะไม่ใช่การบังคับด้วยกระบอกปืน และอาจทำให้เราคิดว่า เราสามารถควบคุมตัวเองได้โดยอิสระ รู้สึกเหมือนตัดสินใจเลือกสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง อย่างเช่นความรู้สุขศึกษาที่บอกว่า การมีความสุขจะต้องมีสุขภาพดี ต้องดูแลรักษาตัวเอง บริหารร่างกาย อำนาจนี้ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ต้องออกกำลังกาย แม้จะไม่มีกฎหมายมาบังคับเรา แต่ทำให้เราเกิดความเชื่อว่า ร่างกายที่ดีของหญิง และชายควรมีรูปลักษณ์เป็นอย่างไร

“ความเป็นหญิง ความเป็นชายไม่ได้กดทับเรา แต่สิ่งที่กดทับเราคือ ความรู้สึกไม่พอใจ และกระวนกระวายใจกับการที่ไปไม่ถึงอุดมคติของความเป็นหญิงความเป็นชาย เพราะอำนาจจากความรู้ที่ดูผ่านโฆษณา โดยเฉพาะธุรกิจความงามคอยบอกว่าผู้ชายที่หล่อแมน ผู้หญิงที่เซ็กซี่ควรเป็นแบบไหน”

ภายใต้อำนาจความรู้แบบนี้ เมื่อบริหารร่างกายเซ็กซี่ก็จะมีคนชม คนจึงลงทุนกับความสุขนั้น ใช้สินค้า และบริการที่ช่วยทำให้บรรลุเป้าหมายอย่างอาหารเสริม และฟิตเนส เมื่ออำนาจทำให้เรารู้สึกมีความสุขที่จะอยู่กับมัน เราจึงเชื่อตาม และเผยแพร่ผลิตซ้ำอำนาจนั้น

ในแต่ละยุคสมัยก็มีกลไกอำนาจไม่เหมือนกัน ในอดีตผู้หญิงอวบถูกมองว่ารูปร่างดี แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เราจึงต้องตรวจสอบว่าความคิดว่าร่างกายที่ดี ‘ควร’ จะเป็นอย่างไรเป็นผลมาจากวิธีคิดแบบไหนและอยู่ภายใต้กลไกอำนาจแบบใด


เกย์กับความเป็นชายที่ต้องสวมไว้

เมื่อกล้ามกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย ในปัจจุบันเรากลับมีคำว่า ‘เกย์กล้าม’ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า คนเล่นกล้ามหลายคนถูกตัดสินไปว่าน่าจะเป็นเกย์ ผศ.ดร.ปุรินทร์ นาคสิงห์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายไว้ว่า เพราะในสังคมชายเป็นใหญ่เกย์เองก็ต้องสร้างความเป็นชายให้ตัวเองด้วย เมื่อกล้ามกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย เกย์ก็รับเอาค่านิยมนี้มาด้วยเช่นกัน

ขณะที่เกย์คือ ผู้มีแนวโน้มชอบเพศเดียวกัน โดยไม่ได้ต้องการจะกลายเป็นผู้หญิง ไม่เสริมหน้าอก ไม่ผ่าตัดอวัยวะเพศ ไม่ใช้ฮอร์โมน และอาจไม่ได้มีจริตในการแสดงออกแบบผู้หญิง แต่ในอดีต หากพิจารณาจากภาพยนตร์ไทยก่อนปี 2540 เกย์มักถูกเหมารวมให้อยู่กลุ่มเดียวกับกะเทย และมีลักษณะเป็นตัวตลก หมกมุ่นทางเพศ พูดจาหยาบคาย

ทว่าหลังปี 2540 เป็นต้นมา การนำเสนอภาพของเกย์ในสื่อต่างๆ มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งชนชั้น อาชีพ รูปลักษณ์ แต่จุดร่วมสำคัญคือ การให้คุณค่ากับความเป็นชาย แบ่งแยกตัวเองชัดเจนให้แตกต่างจากกะเทยที่ออกสาว รวมถึงมีการทำให้ความเป็นเกย์ดูเป็นปกติไม่ต่างจากผู้ชายที่ชอบผู้หญิง คือดูเป็นผู้ชายที่มีหน้าที่การงาน มีชีวิตด้านอื่นเป็นปกติ ไม่ดูประหลาด ไม่มีจริตเกินเลย เพียงแต่ชอบเพศเดียวกันเท่านั้น

เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของตัวละครเกย์ในภาพยนตร์ที่ ผศ.ดร.ปุรินทร์ ศึกษา ให้คุณค่ากับความเป็นชาย เพราะการทำตัวเป็นชายให้ดูปกติธรรมดาเหล่านี้ช่วยลดการจับจ้องและการลงโทษจากสังคมที่ยังไม่ยอมรับคนที่รักเพศเดียวกัน เกย์จึงต้องพยายามทำตัวให้ดูเหมือนผู้ชาย ลดทอนความเป็นผู้หญิง เพื่อให้ตัวเองกลมกลืนไปกับคนในสังคม รวมถึงปฏิเสธคู่รักที่เป็นเกย์สาว เพราะความเป็นสาวนั้นสังเกตเห็นได้และทำให้ความเป็นเกย์เห็นชัดขึ้น เมื่ออยู่ด้วยกันก็อาจถูกสังคมเหมารวมและตัดสินได้ว่าทั้งคู่คงเป็นเกย์ไม่ต่างกัน

ทว่ายุคสมัยที่ความเป็นชายสะท้อนผ่านความกำยำ และกล้ามก็เป็นความแข็งแรงที่เห็นได้ชัดที่สุด เมื่อผู้ชายเล่นกล้าม เกย์ก็รับวัฒนธรรมดังกล่าวของผู้ชายมาด้วย กระทั่งวัฒนธรรมการเล่นกล้ามถูกกลืนโดยวัฒนธรรมของเกย์ ทำให้ผู้ชายเล่นกล้ามอาจถูกเหมารวม และกลายเป็นว่ากล้ามเองก็ทำให้ความเป็นเกย์ชัดเจนขึ้นแทน

ทั้งนี้ การใช้ความเป็นชายก็อาจถูกให้ความหมายต่างกันไปในเกย์แต่ละคน โดยบางคนอาจใช้ปิดบังความเป็นหญิงเพื่อรักษาสถานะทางสังคม แต่ขณะเดียวกันบางคนก็ใช้ความเป็นชายเพื่อประโยชน์ด้านอื่น เช่น การหาคู่ การดึงดูดคนที่มีความต้องการแบบเดียวกัน ดังนั้นเกย์แต่ละคนก็อาจให้ความหมายต่อความเป็นชายไม่เหมือนกัน

อ้างอิงจาก

  • บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ร่างกายและความเป็นชายในสังคมไทยร่วมสมัย: แนวคิด สถานการณ์ และความเปลี่ยนแปลง’ ณ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561