ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.9

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.6 และตลอดทั้งปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.9 เป็นผลจากแรงส่งของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ที่จะช่วยให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวดีขึ้น 

โดยเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ จากการผ่าน พรบ. งบกลางปี 2561 วงเงินจำนวน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และชุมชนอย่างต่อเนื่อง 

(2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะปรับตัวเร่งขึ้นจากการลงทุนในโครงการปัจจุบันและโครงการที่เลื่อนมาจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เริ่มมีความชัดเจน ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น สะท้อนจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 

(3) การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 2.5 ± 1.5 อย่างยั่งยืน 

(4) ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายในการพักผ่อนของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เอเชีย และตะวันออกกลาง รวมถึงการประชุมสัมมนาต่างๆ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 

(5) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เพิ่มมากขึ้น 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ได้แก่ (1) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อาจส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ากว่ากำหนด 

(2) รายได้ของภาคครัวเรือนระดับกลางถึงล่างยังปรับตัวเพิ่มไม่มากนัก ส่งผลต่อการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 

(3) หนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาคครัวเรือนระมัดระว��งการใช้จ่ายมากขึ้น 

(4) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐและมาตรการตอบโต้ทางการค้าของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลกระทบให้การค้าโลกชะลอตัวลง 

(5) ทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีแนวโน้มตึงตัวมากยิ่งขึ้น เป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี จากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลการค้าและบริการที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) เนื่องจากผู้ลงทุนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง ประกอบกับหากธนาคารกลางสหรัฐสามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ตามเป้าหมายจะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายห่างกันมากขึ้น จะส่งผลให้เงินทุนไหลออกต่อเนื่อง และอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :