ไม่พบผลการค้นหา
ไม่เพียงความพร้อมด้านการเงิน-ด้านจิตใจที่สำคัญสำหรับการสร้างครอบครัว การตรวจสุขภาพร่างกายของคู่สามี-ภรรยาเพื่อเตรียมมีบุตรก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะช่วยลดความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ ที่สำคัญยังช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์คลายความกังวลไปได้อย่างมากเลยทีเดียว

นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์ หัวหน้าสูตินรีแพทย์ รพ.มงกุฎวัฒนะ เปิดเผยกับ "วอยซ์ออนไลน์" ว่า คนส่วนใหญ่มักคิดเสมอว่าเมื่อตั้งครรภ์จึงค่อยไปพบแพทย์ ในความเป็นจริงมีหลายสิ่งที่ต้องไปตรวจก่อน เนื่องจากมีข้อดีจำนวนมากเมื่อมาพบแพทย์ เพราะคู่รักแต่ละคู่ก่อนมักจะมาแต่งงานและมีครอบครัวผ่านประสบการณ์ชีวิตมาต่างกัน และมีพันธุกรรมต่างกัน ดังนั้นการตรวจร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์จะทำให้รู้ว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคธาลัสซีเมีย หัดเยอรมัน โรคติดต่ออื่นๆ เป็นต้น ทั้งหมดมีผลต่อคู่ชีวิตและการมีบุตร



wee_1.jpg

นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์ หัวหน้าสูตินรี รพ.มงกุฎวัฒนะ

การตรวจร่างกายที่สำคัญคือการตรวจหาโรคธาลัสซีเมีย เพราะเป็นโรคที่พบมากในประเทศไทย หรือประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร ถ้าหากตรวจพบว่าเป็นโรคดังกล่าวจะได้เตรียมตัวและวางแผนอย่างถูกต้อง 

ข้อมูลจากศูนย์โรคติดต่อและพาหะนำโรค ระบุว่า โอกาสความเสี่ยงของการมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียทั้งที่เป็นโรคและเป็นพาหะจะสามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้ ในกรณีที่พ่อหรือแม่เป็นพาหะเพียงคนเดียว โอกาสที่ลูกเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 หรือครึ่งต่อครึ่ง แต่จะไม่มีลูกคนใดเป็นโรค

ในกรณีที่พ่อและแม่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียทั้งคู่โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 1 ใน 4 โอกาสที่จะเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 และ โอกาสที่จะปกติเท่ากับ 1 ใน 4 เช่นเดียวกับกรณีที่พ่อและแม่ ฝ่ายหนึ่งเป็นโรค และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพาหะ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 2 ใน 4 และ โอกาสที่จะเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 โดยลูกไม่มีโอกาสปกติเลย

กรณีที่พ่อและแม่ ฝ่ายหนึ่งเป็นโรค และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพาหะ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 2 ใน 4 และ โอกาสที่จะเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 โดยลูกไม่มีโอกาสปกติเลย ทั้งนี้อัตราเสี่ยงในการเป็นโรคหรือพาหะในแต่ละครอบครัวจะเท่ากันทุกครั้งของการตั้งครรภ์

จึงมีคำถามว่า จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นพาหะหรือผู้ป่วยธาลัสซีเมียหรือไม่ คำตอบคือการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมียสามารถทำได้โดยการเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมี 2 ขั้นตอน  

1.การตรวจกรอง (OF/DCIP) หากผลการตรวจกรองเป็นลบแสดงว่าผู้นั้นเป็นคนปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจโดยวิธีพิเศษ แต่หากผลการตรวจกรองเป็นบวก จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยหาชนิดของความผิดปกติต่อไป 

และ 2.การตรวจหาชนิดและปริมาณของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อวินิจฉัยพาหะและผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดต่างๆ



rawpixel-577480-unsplash.jpg

Photo by rawpixel on Unsplash

นพ.อานนท์ ยังบอกถึงโรคบางอย่างที่ป้องกันได้ว่า อย่างโรคหัดเยอรมัน ถ้าเป็นตอนตั้งครรภ์จะมีอันตรายค่อนข้างรุนแรงต่อเด็กในครรภ์ อาจทำให้พิการ หูหนวก ตาบอด หัวใจรั่ว ฯลฯ 

สอดรับกับข้อมูลจากกลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุชัดเจนว่า ถ้าสตรีมีครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3-4 เดือนแรก เชื้อไวรัสจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการทางหู ตา หัวใจ และสมอง

ขณะที่การติดต่อของโรคหัดเยอรมันนั้น ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสโดยตรง เชื้อที่อยู่ในลำคอของผู้ป่วยผ่านออกมาทางการไอ จาม เข้าสู่ทางระบบการหายใจ ประมาณร้อยละ 20-50 ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการระยะติดต่อกันได้มากคือ 2-3 วัน ก่อนมีผื่นขึ้นไปจนถึง 7 วันหลังผื่นขึ้น 

ข้อมูลจากกลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนฯ อธิบายว่า สำหรับทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และคลอดออกมามีความพิการ (Congenital rubella) เชื้อไวรัสจะอยู่ในลำคอและขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะได้นานถึง 1 ปี จึงนับเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ

โรคหัดเยอรมัน ส่วนใหญ่จะเป็นกับเด็ก ผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเป็นได้และรุนแรงมากกว่าเด็ก และที่สำคัญคือถ้าเป็นในหญิงมีครรภ์ จะทำให้ลูกคลอดออกมามีความพิการได้ตั้งแต่ร้อยละ 25-40 แล้วแต่ระยะของการตั้งครรภ์

นพ.อานนท์ เผยวิธีรักษาโรคนี้ว่า ดังนั้นก่อนตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน ซึ่งปกติแล้วโรคหัดเยอรมัน มักจะระบาดในช่วงเดือนก.พ.



omar-lopez-440441-unsplash.jpg

Photo by Omar Lopez on Unsplash


นพ.อานนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การตรวจภายในของผู้หญิงมีความสำคัญมาก แต่ผู้หญิงหลายคนอายหรือไม่กล้าตรวจ ทั้งที่ควรจะตรวจรักษาเพื่อดูว่ามดลูกและอวัยวะภายในผิดปกติหรือไม่ เช่น บางคนอาจเป็นเนื้องอก มีถุงน้ำรังไข่ มีเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก เป็นต้น หากไม่ได้รับการตรวจรักษาเลย และเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาจะกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมที่เป็นอยู่ เช่น ถ้าเป็นเนื้องอกอยู่จะกระทบต่อความเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ และจะทำให้ต้องยืดระยะเวลาการรักษานานออกไป เนื่องจากต้องรอให้ผ่านพ้นการตั้งครรภ์ไปก่อน


“การตรวจภายใน การตรวจเลือด ก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์คือสิ่งจำเป็นอย่างมาก ที่ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนก่อนตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นผมยืนยันเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำ”