ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันโรคผิวหนัง ชี้ 'โรคเพมฟิกัส' หรือโรคตุ่มน้ำพองใส เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน แต่ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยได้ตามปกติ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าว สาวโรงงานวัย 42 ปี จากจังหวัดชลบุรี ป่วยเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีอาการผิวหนังพุพอง กระดำกระด่างเต็มตัว มีน้ำเหลืองทั่วตัว เป็นมากว่า 1 ปี จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคในกลุ่มตุ่มน้ำพองเรื้อรังซึ่งเกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้มีการสร้างแอนติบอดีมาทำลายการยึดเกาะของเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดลอกออกจากกันได้ง่าย ประกอบกับปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมมีส่วนในการกระตุ้นโรคด้วย

อย่างไรก็ตาม โรคนี้พบไม่บ่อย แต่จัดเป็นโรคผิวหนังที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 50-60 ปี


โรคนี้เกิดได้กับทุกวัย รวมถึงในเด็กเพศชายและหญิงมีโอกาสเกิดโรคเท่ากัน ซึ่งโรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ และสามารถรักษาให้หายได้


แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเป็นโรคเพมฟิกัส อาการจะเริ่มจากมีแผลถลอกเรื้อรังที่บริเวณเยื่อบุในปาก โดยเฉพาะที่เหงือกหรือกระพุ้งแก้ม ตามมาด้วยตุ่มพองหรือแผลถลอกบริเวณผิวหนัง และมักขยายออกกลายเป็นแผ่นใหญ่ ทำให้เกิดอาการปวดแสบมาก แผลถลอกอาจปกคลุมด้วยสะเก็ดน้ำเหลือง ในระยะนี้หากมีการติดเชื้อแทรก จะทำให้แผลลุกลามและควบคุมได้ยาก

ผู้ป่วยโรคเพมฟิกัสแต่ละรายมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน วินิจฉัยได้จากประวัติและอาการทางผิวหนัง ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา โดยจะต้องแยกจากโรคกลุ่มตุ่มน้ำพองอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเพมฟิกอยด์ ซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกัน

นอกจากนี้ การตรวจแยกชนิดเพมฟิกัสเป็นชนิดลึกและชนิดตื้น มีความสำคัญในการเลือกการรักษา ผู้ป่วยเพมฟิกัสชนิดตื้นจะมีความรุนแรงน้อยกว่าและตอบสนองต่อการรักษาดีกว่า

สำหรับยาที่ใช้รักษาหลัก คือ ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน โดยใช้ในขนาดสูง 0.5 -1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคมาก หรือมีผื่นในบริเวณกว้าง จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่นๆ เช่น ยาไซโคฟอสฟาไมด์ หรือยาอะซาไทโอปรีนร่วมด้วย ในระยะนี้การรักษามีจุดประสงค์ในการลดการเกิดตุ่มน้ำใหม่และเร่งการสมานแผลให้เร็วที่สุด ซึ่งมักใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แผลจึงสมานหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เมื่อโรคเริ่มสงบ แพทย์จะปรับลดยาลงช้าๆ โดยใช้ยาที่น้อยที่สุดที่จะควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าสู่ระยะโรคสงบหลังรักษา 3 - 5 ปี โดยอาจมีอาการโรคกำเริบและสงบสลับกันไป


ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานานและอาจเสียชีวิตจากความรุนแรงของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด แต่พบว่าควบคุมโรคได้ดีขึ้นและมีผลทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบได้ดีขึ้น ยาในกลุ่มใหม่ ได้แก่ ยาฉีดไซโคฟอสฟาไมด์ ยาอิมมูโนโกลบูลิน และยาริทักซิแมบ ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นการรักษาหลักในอนาคต

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่าเมื่อเป็นโรค ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้นและฟัน ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นโรคที่สำคัญ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่อง มาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ อย่าลดหรือเพิ่มยาเอง การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

Photo by Romina Farias on Unsplash