ไม่พบผลการค้นหา
แสนสิริจับมือบีซีพีจีและพาวเวอร์เลดเจอร์ นำ 4 โครงการย่าน T77 หรือ ทาวน์สุขุมวิท 77 นำร่องระบบแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านเทคโนโลยี 'บล็อกเชน' สร้าง Prosumer สร้างผู้ใช้เป็นผู้ผลิต

ถ้าไม่เริ่มก้าวแรก ก็คงไม่มีก้าวต่อไป และการจับมือของ 2 ธุรกิจ ฝั่งหนึ่งเป็นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กับอีกฝั่งเป็นน้องใหม่พลังงานหมุนเวียนแต่เก๋าในธุรกิจพลังงานไทย คือ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เมื่อทั้งคู่จับมือกัน โดยมีพันธมิตรรายที่ 3 เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนจากออสเตรเลีย คือ บริษัท พาวเวอร์เลดเจอร์ จำกัด ร่วมกันทำโครงการนำร่อง 'แลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบบเพียร์ทูเพียร์ผ่านบล็อกเชน' ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดและเป็นครั้งแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

คำว่า "ใหญ่ที่สุดและเป็นครั้งแรก" ไม่ใช่การซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร แต่คือการใช้เทคโนโลยี 'บล็อกเชน' มาบริหารจัดการระบบการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยตรง


แสนสิริ-บีซีพีจี-แถลงข่าว-ความร่วมมือ-ขายไฟฟ้า

'บัณฑิต สะเพียรชัย' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บอกว่า เรียกบล็อกเชนว่า นักบัญชีอัจริยะ ก็ได้ ที่สามารถจัดการการซื้อขายไฟ หรือ แลกเปลี่ยนธุรกรรมที่มีความซับซ้อนได้ เช่น การซื้อขายไฟฟ้าแบบเพียร์ทูเพียร์ หรือ จากผู้ผลิตกับผู้ใช้โดยตรง แล้วก็มีความปลอดภัย โปร่งใส ระบบไม่สามารถถูกแฮกได้ อีกทั้งยังเป็นที่เชื่อถือในวงของผู้บริโภคและผู้ผลิตทั้งหมด ขณะเดียวกัน ก็สามารถลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายที่อดีตอาจต้องจ่ายให้กับตัวกลาง ซึ่งในกรณีตัวอย่างการใช้บล็อกเชนในอุตสาหกรรมธนาคาร ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายพวกค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ได้ เป็นต้น

"ด้วยการใช้บล็อกเชนเข้ามาบริหารจัดการ Transcation มันชาญฉลาดขนาดที่เมื่อไรที่พลังงานที่ผมผลิตเหลือใช้แล้ว ระบบนี้จะรู้ทันทีว่า ใครอยากจะได้ อยากจะใช้พลังงานที่เหลือนั้น และถ้ามี 2 คนอยากได้ ระบบก็จะเลือกขายให้กับคนที่ให้ราคาดีที่สุดก่อน แล้วเป็นเรียลไทม์ ทุกวินาทีระบบจะรู้เลยว่า ใครผลิต ใครเกิน ใครขาด ใครต้องการ" บัณฑิต กล่าว

ขณะที่ ความร่วมมือกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ในโครงการนำร่องครั้งนี้ จะทดลองกับการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) จาก 5 อาคาร ในโครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 ได้แก่ ฮาบิโตะ มอลล์, โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ, พาร์ค คอร์ท คอนโดมิเนียม (Park Court), โรงพยาบาลทันตกรรม และอาคารกักเก็บพลังงาน ( Battery Energy Storage) ของบีซีพีจี 

โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีซีพีจี เปิดเผยว่า แต่ละโครงการจะใช้เงินลงทุน 30-50 ล้านบาท โดยบีพีซีจีเป็นผู้ลงทุนระบบทั้งหมด ตั้งแต่การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาอาคาร, สมาร์ท มิเตอร์, แหล่งกักเก็บพลังงาน ส่วนสายส่งได้รับการอนุเคราะห์จากการไฟฟ้านครหลวง อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของโครงการ การผลิตและซื้อขายไฟฟ้ายังเป็นระหว่างนิติบุคคลที่ดูแลแต่ละอาคารกับบีซีพีจี ดังนั้นในกรณีของคอมโดมิเนียม จึงเป็นการผลิตไฟฟ้าและใช้ในพื้นที่่ส่วนกลางก่อน ยังไม่ได้เข้าไปถึงครัวเรือนผู้อยู่อาศัย

พลังงานแสงอาทิตย์-ฮาบิโตะ มอลล์-แสนสิริ-บีซีพีจี

'อุทัย อุทัยแสงสุข' ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริมีความตั้งใจและมุ่งมั่นในเรื่องพลังงานสะอาดมาหลายปี และการร่วมมือกับบีซีพีจีในฐานะพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้ จะเป็นครั้งที่สำคัญสำหรับการผลักดันเป้าหมาย 'Green Sustainable Living' ของแสนสิริให้ก้าวไปอีกขั้น 

ด้วยการวางระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์แบบเพียร์ทูเพียร์ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในที่พักอาศัย แหล่งชุมชน ซึ่งแสนสิริมีเป้าหมายคัดโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวอีกกว่า 20 โครงการเข้าร่วมภายในปี 2561 หลังจากเริ่มโครงการนำร่องครั้งนี้แล้ว และภายปี 2564 จะเพิ่มอีกกว่า 30 โครงการ 

"โครงการนี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ Prosumer จากผู้บริโภคไฟฟ้า เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองของครัวเรือนต่างๆ ซึ่งระบบแลกเปลี่ยนไฟฟ้านี้ จะทำให้ลูกบ้านและอาคารในโครงการ T77 รวมถึงโครงการที่พักอาศัยต่างๆ สามารถประหยัดค่าไฟต่อหน่วยได้ถึงร้อยละ 15 ลดคาร์บอนฟุตปรินท์ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 530 ตันต่อปี หรือเท่ากับปลูกป่าได้ 400 ไร่" อุทัย กล่าว 

ทั้งนี้ การติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ในโครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ของแสนสิริ บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ และจะมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคารภายในเดือน ก.ย. 2561 โดยระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 635 กิโลวัตต์ แบ่งสัดส่วนการใช้ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ 413 กิโลวัตต์, พาร์ค คอร์ท คอนโดมิเนียม 168 กิโลวัตต์, ฮาบิโตะ มอลล์ 54 กิโลวัตต์ รวมถึงโรงพยาบาลทันตกรรม

"ในเฟสแรก แสนสิริทำเอ็มโอยูกับบีซีพีจีในโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมด 30 โครงการและน่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 2 เมกะวัตต์ หรือ เทียบเท่ากับปลูกป่าได้ 1,600 ไร่" อุทัย กล่าว


พลังงานแสงอาทิตย์-ฮาบิโตะ มอลล์-แสนสิริ-บีซีพีจี

ด้าน 'เดวิด มาร์ติน' ผู้ก่อตั้งร่วมและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พาวเวอร์ เลดเจอร์ จำกัด ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีนี้จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้ารู้ข้อมูลทันที เป็นเรียลไทม์ ทำได้เร็ว ทำได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าผ่านบล็อกเชนในประเทศไทยครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในภูมิภาค และช่วยสร้างเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

พร้อมกับอธิบายว่า การแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคาร ทุกฝ่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านการตกลงล่วงหน้าด้วย smart contract โดยผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่เหลือใช้ด้วยราคาต่ำที่สุด ส่วนผู้ผลิตได้เกินจากความต้องการจะขายให้ผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจจะใช้ 'Sparkz Token' ซึ่งเปรียบกับคูปองในศูนย์อาหาร และเป็นสัญลักษณ์การซื้อขายในระบบเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่ (สกุลเงินดิจิทัล)

ทั้งนี้ 'บัณฑิต' กล่าวเสริมว่า 1 โทเคน หรือ 1 Sparkz จะเท่ากับ 1 สตางค์ และ 1 บาท เท่ากับ 100 Sparkz ดังนั้น ค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่ซื้อขายกันอยู่หน่วยละ 3.5 บาท ก็จะเท่ากับ 350 Sparkz เป็นต้น


แสนสิริ-บีซีพีจี-แถลงข่าว-ความร่วมมือ-ขายไฟฟ้า