ไม่พบผลการค้นหา
กยศ.ฟ้องลูกหนี้เฉลี่ยปีละ 1 แสนราย พร้อมบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างหักเงินเดือน โดยยืนยัน มีเงินหมุนเวียนพอปล่อยกู้รายใหม่

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา “เรียน-กู้-ค้ำ-หนี้-หนี-บังคับ : ความเป็นธรรมของกฎหมายกับนโยบาย กองทุน กยศ.” โดยนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ให้ข้อมูลว่า มีทุนหมุนเวียนของรัฐ 68,200 ล้านบาท ผู้กู้ทั้งหมดราว 5.7 ล้านราย มีผู้ชำระประมาณร้อยละ 65 หรือราว 3 ล้านราย ชำระเสร็จแล้วเพียง 8 แสนคน ติดค้างอยู่อีกราว 2.1 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 61 แนวโน้มคนกู้ลดลง ซึ่งปัจจุบัน กยศ.ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ไม่ใช่ให้ถูกใจลูกหนี้ 

กยศ.เริ่มฟ้องลูกหนี้จากผู้ที่จบการศึกษาแล้ว อายุ 30 ปีขึ้นไปมากกว่า 1 ล้านคดี เฉลี่ยปีละ 1 แสนคดี พร้อมยืนยันว่า ดอกเบี้ย กยศ.ถูกมาก 9 ปีแรกไม่คิดดอกเบี้ย หลังจบการศึกษา 2 ปีเริ่มคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นหากผิดนัดจะมีเบี้ยปรับอีกเล็กน้อย

สำหรับขั้นตอนทวงหนี้ ผู้จัดการกองทุน กยศ.ระบุว่า จะมีการส่ง SMS ทางโทรศัพท์ที่มีในฐานข้อมูลอยู่ราว 3 ล้านเลขหมาย หากไม่ตอบรับจะโทรแจ้งเตือน และหากไม่ยอมชำระหรือลูกหนี้มีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ จะส่งหนังสือทวงถามตามทะเบียนบ้าน และบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป แต่ไม่มีการทวงหนี้โหดตามที่มีกระแสข่าว และยังมีเงินให้กู้เรียนได้ เพราะอัตราการกู้ลดลง ยอดจ่ายคืนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทำให้มีหมุนเวียนเพียงพอ

ผู้จัดการ กยศ.กล่าวด้วยว่า ตาม พ.ร.บ.กยศ.ปี 2560 ผู้กู้ต้องยินยอมให้หักเงินเดือนและเเจ้งต่อนายจ้างว่ามีหนี้และนายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนคืนให้ กยศ.เมื่อ กยศ.มีหนังสือแจ้งเตือน แต่จะหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งสรรพากรและกองทุนสวัสดิการหรือยังชีพพนักงานก่อนหักคืน กยศ.หากไม่ดำเนินการ นายจ้างต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยกฎหมายให้อำนาจ กยศ.เข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ได้

ด้านศาสตราจารย์ ธนิต ธงทอง อดีตรองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาฯ เห็นว่ามหาวิทยาลัยควรมีทุนการศึกษาเป็นเงินให้เปล่าแก่นิสิตนักศึกษาที่ขาดแคลนด้วย ซึ่ง จุฬาฯ มีนิสิตกู้ กยศ.ราว 800 ราย เมื่อมีการให้ทุน สามารถลดผู้กู้ กยศ.ได้ครึ่งหนึ่งราว 400 ราย และพบว่าผู้ที่ไม่ขอทุนแต่ยอมกู้ กยศ.เพราะต้องการรักษาสิทธิ์ บางส่วนพบว่า กู้เงินเพื่อให้ผู้ปกครองนำไปใช้จ่ายเนื่องจากดอกเบี้ยถูก แม้มีเงินเพียง 2,000 ต่อเดือนเข้าบัญชีก็ตาม

ศาสตราจารย์ธนิต ยังเชื่อว่า ผู้กู้รับรู้สถานะและสามารถผ่อนชำระได้ แต่บางส่วนยังไม่มีงานทำหรือมีภาระใช้จ่ายอื่นๆ เหตุเพราะการบริหารจัดการและการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึง และเมื่อผู้กู้จบการศึกษาไปแล้ว สถาบันการศึกษาก็ไม่สามารถดูแลได้และไม่รู้จะส่งต่อให้ กยศ.หรือธนาคารที่เกี่ยวข้องอย่างไรด้วย 

ส่วนนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(เครดิตบูโร) ระบุว่า กยศ.ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร ที่ต้องส่งข้อมูลลูกหนี้มาให้เหมือนในหลายๆประเทศ แต่หลักการทั่วไปการทำสัญญายืมเงินต้องใช้หนี้ และตามทฤษฎี ต้องจัดลำดับความสำคัญการชำระว่าจ่ายหนี้อะไรก่อน ส่วนใหญ่จะจ่ายหนี้นอกระบบก่อนเพราะดอกเบี้ยแพง ถัดมาคือจ่ายภาษีเพราะมีโทษทางอาญา , จ่ายหนี้สาธารณูปโภค น้ำ,ไฟ เพราะกระทบความเป็นอยู่ และจะจ่ายหนี้สถาบันการเงินเป็นลำดับสุดท้าย แต่จะพบว่าจะชำระหนี้ กยศ.หลังใช้หนี้ธนาคารอีก

โดยข้อมูลหนี้เครดิตบูโร 25-26 ล้านคน เฉลี่ยเป็นหนี้ 1.6 แสนบาท และร้อยละ 21 ของคนอายุไม่เกิน 31 ปี จะมีอย่างน้อย 1 บัญชีไม่ชำระกลายเป็นหนี้เสีย หากรวมหนี้ กยศ.ในระบบจะพบตัวเลขที่น่ากลัว ดูจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มี 47%เป็นหนี้เสีย ต้องแก้ปัญหานี้ร่วม 10 ปี ขณะที่ กยศ.มีผู้ไม่ชำระกว่าร้อยละ 61 

นายสุรพล เสนอให้มีการเชื่อมต่อข้อมูลและแบ่งแยกว่าลูกหนี้ กยศ.แต่ละคนมีสถานะทางอาชีพอย่างไร หากพิการ เสียขีวิต หรือยากจน ต้องพิจารณาอีกมาตรการหนึ่ง ควรมุ่งทวงหนี้กับคนที่มีสถานะทางการเงินที่พอจะใช้หนี้ได้แต่ไม่ยอมชำระหนี้


ภาพ : nathan-dumlao-572047-unsplash.jpg