ผู้ชุมนุมหลายพันคนรวมตัวกันเดินขบวนจากย่านคอสเวย์เบย์ไปยังย่านแอดไมรัลทีของฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน เมื่อวานนี้ (1 มกราคม 2561) หลังจากปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) มีมติให้สถานีรถไฟความเร็วสูง 'เวสต์เกาลูน' ซึ่งจะสร้างเสร็จในปีหน้า เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากเมืองกว่างโจวของจีนแผ่นดินใหญ่มายังฮ่องกง เป็น 'พื้นที่บังคับใช้กฎหมายจีน' แทนที่จะใช้กฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิฮ่องกงที่จะปกครองตนเองอย่างอิสระ ทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนมากไม่พอใจ และออกมารวมตัวต่อต้านมติดังกล่าวของเอ็นพีซี
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ข้อเสนอเรื่องการบังคับใช้กฎหมายของจีนในบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงเวสต์เกาลูนของฮ่องกง เคยเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่ชาวฮ่องกงมาแล้วครั้งหนึ่ง และนายหลี่เฟย รองเลขาธิการเอ็นพีซี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างชาติ โดยระบุว่าถ้าชาวฮ่องกงไม่สะดวกใจที่จะใช้บริการสถานีรถไฟความเร็วสูง (ที่บังคับใช้กฎหมายของจีน) ก็สามารถใช้ช่องทางอื่นในการเดินทางระหว่างฮ่องกงและจีนได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า การเดินทางในแบบอื่นอาจไม่สะดวกรวดเร็วเท่ารถไฟความเร็วสูง
ด้านทันยา ชาน สมาชิกสภาบริหารฮ่องกง ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยฮ่องกง และไม่เห็นด้วยกับระบบการปกครอง "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่จีนพยายามบังคับใช้กับฮ่องกง โต้แย้งว่า การลงมติให้กฎหมายจีนแผ่นดินใหญ่มีผลบังคับใช้ในอาณาเขตของฮ่องกงเป็นตัวอย่างที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับจีน (พ.ศ.2540) เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงอย่างชัดเจน และชาวฮ่องกงไม่ได้เห็นแก่ความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงว่าชาวฮ่องกงจะได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายพื้นฐานหรือไม่
สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียในฮ่องกงรายงานว่า เงื่อนไขในการบังคับใช้กฎหมายจีนบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงเวสต์เกาลูน เป็นหนึ่งในนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน (Co-Location Arrangement) ซึ่งผลักดันโดยรัฐบาลกลางของจีนแลพขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองหรือตรวจลงตราต่างๆ ของผู้โดยสารซึ่งเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงจากจีนมายังฮ่องกงจะต้องยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมายของจีน
กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกงมองว่านโยบายการดังกล่าวเป็นความพยายามขยายอำนาจของจีนมายังฮ่องกง หลังจากที่ชาวฮ่องกงเดินขบวนต่อต้านจีนหลายครั้งในปีที่ผ่าน���า ขณะที่สภาบริหารฮ่องกง ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นสมาชิกที่ได้รับเลือกและแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางของจีน พยายามจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยฮ่องกงเช่นกัน เห็นได้จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลฮ่องกงสั่งดำเนินคดีย้อนหลังแก่แกนนำเยาวชนผู้ผลักดันการประท้วงยืดเยื้อในฮ่องกงเมื่อปี 2557 และปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่สมาชิกสภาบริหารฮ่องกงจำนวนหนึ่งถูกสั่งปลด เพราะไม่สาบานตนในพิธีรับตำแหน่งว่าจะเคารพต่อจีน รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการอุ้มหายฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกลางของจีนไปจากพื้นที่ต่างๆ รวมถึงต่างประเทศ เช่น กรณีของนายกุ้ยหมินไห่ เจ้าของสำนักพิมพ์ฮ่องกงที่มีจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน ถูกอุ้มหายไปจากเมืองพัทยาของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ก่อนที่เขาจะไปปรากฏตัวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน และสารภาพความผิดที่ต่อต้านรัฐบาลจีน แต่ทางการไทยไม่ได้ทักท้วงเรื่องการละเมิดกฎหมายหรืออธิปไตยไทยแต่อย่างใด ทำให้เกรงว่าอาจเกิดกรณีเช่นนี้ที่สถานีรถไฟฯ เวสต์เกาลูน
ส่วนเว็บไซต์ฮ่องกงจีเอฟพี สื่อท้องถิ่นของฮ่องกง รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของสภาบริหารฮ่องกง ซึ่งระบุว่าสภาฯ เคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แต่ขอยืนยันว่าสภาฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เศรษฐกิจฮ่องกงมีความหลากหลายและมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน การลงทุนใดๆ ของรัฐบาลจะดำเนินต่อไป แต่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายจากทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายและนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ระบุด้วยว่าทางสภาฯ 'เสียใจ' ที่ผู้ชุมนุมบางรายไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุม ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐ รวมถึงทำให้มีผู้บาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวด้วย
อ่านเพิ่มเติม:
โพลชี้ ชาวฮ่องกงรุ่นใหม่ไม่ถือว่าตัวเองเป็นคนจีน