อับดุล การิม คาลิด โฆษกกลุ่มติดอาวุธบีอาร์เอ็น ซึ่งประกาศตัวเป็นผู้เคลื่อนไหวก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ให้สัมภาษณ์กับแอนโทนี เดวิส ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเอเชียเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเป็นการพูดคุยผ่านตัวแทนบีอาร์เอ็นอีกรายหนึ่งซึ่งพูดภาษาอังกฤษ และมีการนำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เอเชียไทม์ส เมื่อวานนี้ (22 ต.ค.) โดยมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลไทยมีคำสั่งแต่งตั้ง พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขแทน พล.อ.อักษรา เกิดผล
โฆษกกลุ่มบีอาร์เอ็นได้เตือนให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนแนวทางการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขรอบใหม่ หลังจากทั้งทางการไทยและมาเลเซียเปลี่ยนตัวผู้มีบทบาทนำในการพูดคุยในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพบกับมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่มีกำหนดเดินทางถึงประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.)
การให้สัมภาษณ์สื่อของโฆษกกลุ่มบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ครั้งนี้บีอาร์เอ็นได้กล่าวเตือนว่า ถ้าหากรัฐบาลไทยต้องการให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/ สันติสุขที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 มีโอกาสดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายชัดเจน ก็ควรจะต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นอย่างจริงจัง เนื่องจากบีอาร์เอ็นไม่เข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพ/ สันติสุข ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและตัวแทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รวมตัวกันในนามเครือข่าย 'มาราปาตานี' เพราะไม่เชื่อมั่นว่ากลุ่มเคลื่อนไหวที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมพูดคุยเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในจังหวัดชายแดนใต้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
บีอาร์เอ็นเรียกร้องต่อตัวแทนรัฐบาลไทย ประเด็นแรก ระบุว่าจะต้องมีการยอมรับหรือระบุชื่อกลุ่มที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมา ตัวแทนรัฐบาลไทยที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยจะถูกเรียกว่า 'ปาร์ตี้เอ' และตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนที่รวมตัวกันในนามมาราปาตานีถูกเรียกว่า 'ปาร์ตี้บี' ซึ่งบีอาร์เอ็นเห็นว่า การปฏิเสธที่จะเรียกชื่อ หรือยอมรับว่ากลุ่มเคลื่อนไหวมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของฝ่ายรัฐบาลไทย สะท้อนนัยของการ 'ไม่ยอมรับ' สถานะของผู้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุย
ทั้งนี้ บีอาร์เอ็นมองว่า ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคู่ขัดแย้งโดยตรงคือทางการไทยกับบีอาร์เอ็น การพูดคุยกันจึงควรจะเริ่มจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เริ่มจากเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้เป็นผู้มีบทบาทอย่างแท้จริง บางกลุ่มที่เข้าร่วมการพูดคุยใต้ร่ม 'มาราปาตานี' ไม่ได้เคลื่อนไหวใดๆ ในพื้นที่มานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม บีอาร์เอ็นยืนยันว่ากลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขได้ เพราะบีอาร์เอ็นไม่ได้กีดกัน ทั้งยังเห็นด้วยกับหลักการที่ว่าทุกฝ่ายในพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพูดคุยสันติภาพ/ สันติสุข แต่คำถามคือจะทำอย่างไรให้การเปิดกว้างให้แต่ละฝ่ายเข้าร่วมดำเนินไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ประเด็นที่ 2 บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาติดต่อ 'ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ' รายอื่นๆ นอกเหนือจากตัวแทนที่จัดหาโดยรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งไทยอนุญาตให้เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย แต่บีอาร์เอ็นระบุว่า ผู้รับหน้าที่ดังกล่าวจะต้องเป็นตัวกลางสำหรับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ต้องไม่เลือกข้าง, มีความน่าเชื่อถือ, มีอำนาจหรือกลไกที่จะบังคับให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย และจะต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน
กรณีของมาเลเซีย เพิ่งมีคำสั่งเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับมาราปาตานี จาก 'อาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม' กลายเป็น 'อับดุล ราฮิม นูร์' อดีต ผบ.ตร.และผู้อำนวยการด้านข่าวกรองของมาเลเซีย วัย 75 ปี ซึ่งใกล้ชิดกับมหาเธร์ และถูกมองว่าเป็น 'สายเหยี่ยว' ซึ่งอาจจะไม่เป็นกลางและเข้าข้างตัวแทนฝ่ายที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
ประเด็นที่ 3 การวางกรอบแนวทางในกระบวนการพูดคุยช่วงที่ผ่านมา มีทั้งการใช้กำลังบังคับและปราบปราม รวมถึงการตั้งเป้าล่วงหน้าว่าจะต้องแสวงหา 'จุดร่วม' ในกลุ่มที่จะเข้าร่วมการพูดคุย และเมื่อเชื่อมโยงกับประเด็นที่ 2 ที่ตัวแทนจากมาเลเซียมีบทบาทในการอำนวยความสะดวก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่มีแนวทางสนับสนุนรัฐบาลไทย ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าเสียงของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทยอาจไม่ถูกยอมรับหรือ 'รับฟัง' อย่างจริงจัง
บทความของแอนโทนี เดวิส ทิ้งท้ายเอาไว้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากฝ่ายรัฐบาลไทยหวนกลับไปใช้นโยบายใช้กำลัง ก็อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงก่อเหตุตอบโต้กลับได้
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์เบนาร์นิวส์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า กองทัพมีความเคลื่อนไหวครั้งใหม่เกี่ยวกับประเด็นจังหวัดชายแดนใต้ เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ได้เดินทางลงไปยังจังหวัดปัตตานี พร้อมระบุว่า ต้องการให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขดำเนินต่อไป เพราะประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องอ่อนไหว แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในไม่ช้า เพราะนายกรัฐมนตรีของไทยและมาเลเซียต่างก็แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือในกระบวนการดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: