นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอนโยบาย กรณีกรมสรรพสามิตเก็บภาษีแอลกอฮอล์ลดลง ตามที่กรมสรรพสามิตได้รายงานการจัดเก็บรายได้จากภาษีสุราและเบียร์ในรอบ 7 เดือน ต่ำกว่าเป้า 6,341 ล้านบาท โดยเฉพาะในเดือนเมษายนนี้ ต่ำกว่าเป้า 606 ล้านบาท
เหตุผลสำคัญที่ทำให้้เดือน เม.ย.เก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า เนื่องจาก 1. รัฐบาลได้รณรงค์ให้งดดื่มแอลกอฮอล์ และจัดโซนนิ่งห้ามดื่ม โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปกติจะมีการดื่มมากขึ้นและกรมฯ สามารถเก็บภาษีได้มาก แต่รัฐบาลได้มีมาตรการเขตโซนนิ่งห้ามดื่มในเขตเล่นน้ำ ในสถานีขนส่ง และพื้นที่ต่างๆ ทำให้ยอดการขายลดลง และการเก็บภาษีน้อยลงด้วย 2.ธุรกิจแอลกอฮอล์ได้ปรับสูตรการผลิตโดยลดปริมาณแอลกอฮอล์ เช่น เดิมปริมาณแอลกอฮอล์ผสมร้อยละ 5 ลดลงร้อยละ 3 และปรับลดขนาดเบียร์กระป๋องจาก 350 ซีซี. เหลือ 330 ซีซี. เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นจากการถูกเก็บภาษีเพิ่มเข้ากองทุนผู้สูงอายุ
“เครือข่ายฯ ขอบคุณกรมสรรพสามิตที่ชี้แจงเหตุผล และย้ำว่าการที่ภาษีรัฐบาลเก็บได้ต่ำลง แต่เป็นผลดีต่อสังคมและสุขภาพคนไทยที่ดื่มเหล้าเบียร์ลดลง สะท้อนจากองค์ความรู้ทั่วโลก รวมทั้งธนาคารโลก ระบุชัดเจนว่า การควบคุมน้ำเมา และบุหรี่ ยิ่งควบคุมยิ่งส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขชื่อ HITAP คำนวณความสูญเสียจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่าประมาณ 2 เท่าของภาษีที่เก็บได้ นั่นแปลว่าการเก็บภาษีจากน้ำเมา เก็บได้น้อยนั้นกลับเป็นผลดี เพราะรัฐบาลก็เสียงบประมาณแก้ปัญหาน้อย” นายธีระ กล่าว
นายธีระ กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีความห่วงต่อนโยบายที่ขัดแย้งกันระหว่างการจัดเก็บเพิ่มรายได้ของรัฐ กับการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน จึงขอเสนอแนะ 3 ข้อดังนี้
1. การที่กรมสรรพสามิตเก็บภาษีแอลกอฮอล์ลดลง กลายเป็นผลลบต่อผลการดำเนินงานของกรมสรรพสามิต ตามระเบียบว่าด้วยการวัดประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐที่กำหนดตัวชี้วัดเรื่องการเพิ่มขึ้นของรายได้ภาษี ดังนั้น จึงควรทบทวนตัวชี้วัดเรื่องจำนวนภาษีจากสินค้าแอลกอฮอล์ และบุหรี่ เป็นสินค้าพิเศษที่ไม่อยู่ในข่ายการวัดด้วยจำนวนภาษีที่ต้องเพิ่มขึ้นในทางเดียวเท่านั้น แต่ต้องเป็นการประเมินผลที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดจำนวนนักดื่มนักสูบ เพื่อลดปัญหาสังคม และปัญหาสุขภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศในระยะยาว
2.เพื่อให้แนวโน้มปัญหาและจำนวนนักดื่มลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการตามมาตรการในแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งรัดดำเนินการตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งต้องเน้นผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานควบคุมแอลกอฮอล์จังหวัดและการบูรณาการกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาทิศทางการทำงานร่วมกันได้ผลในบางจังหวัดแต่อีกหลายจังหวัดยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
3.ควรเตรียมศึกษาและพิจารณาขึ้นภาษีแอลกอฮอล์ในโอกาสต่อไป อย่างน้อยเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลชดเชยในส่วนที่ลดลง ประกอบกับควรศึกษาเรื่องการจำกัดจำนวนร้านค้าย่อยโดยควบคุมใบอนุญาตขาย ลดจำนวนช่องทางการเข้าถึง ซึ่งทั้งสองมาตรการจะส่งผลดีต่อการลดจำนวนนักดื่มและลดปัญหาต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: