ไม่พบผลการค้นหา
บ๊อบ เกลดอฟ นักดนตรีและนักกิจกรรมชื่อดัง ประกาศสละรางวัลเกียรติยศที่เคยได้รับพร้อมกับ อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา โดยระบุว่าเขาไม่อยากเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

'เสรีภาพแห่งดับลิน' เป็นชื่อรางวัลเกียรติยศที่สภาบริหารกรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ มอบให้แก่พลเมืองหรือบุคคลสำคัญทั่วโลกที่มีประวัติการทำคุณงามความดีและส่งเสริมเสรีภาพแก่สังคม โดย 'บ๊อบ เกลดอฟ' นักดนตรีชื่อดังชาวไอริช เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวเมื่อปี 2006 ขณะที่นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา ได้รับรางวัลเมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอถูกอดีตรัฐบาลทหารพม่าสั่งกักบริเวณในบ้านพัก และเธอเดินทางมารับมอบรางวัลด้วยตัวเองในปี 2012 หลังจากได้รับการปล่อยตัว

เกลดอฟเป็นหนึ่งในกลุ่มนักดนตรีที่อยู่เบื้องหลังการจัดคอนเสิร์ตการกุศลระดับประเทศ Live Aid และ One Campaign รวมถึงการรณรงค์เพื่อกำจัดความยากจนทั่วโลก ทำให้เขาได้รับพระราชทานเหรียญรางวัลชั้น KBE จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร แต่ไม่ได้มีคำว่า 'เซอร์' นำหน้าชื่อ เพราะไม่ได้เป็นพลเมืองอังกฤษ 

เกลดอฟยืนยันว่าเขาภาคภูมิใจที่เป็นชาวดับลิน แต่สามัญสำนึกบอกกับเขาว่า คงไม่สามารถเป็นหนึ่งในผู้รับรางวัลเสรีภาพแห่งดับลินร่วมกับนางซูจีได้ เพราะเขาไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยเป็นการอ้างถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา ซึ่งปะทุขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมเป็นต้นมา 

000_CO7YE.jpg

แม้สาเหตุของความรุนแรงในรัฐยะไข่ครั้งล่าสุดจะเริ่มจากที่กองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) กลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิม นำกำลังโจมตีด่านตรวจและค่ายทหารกว่า 30 จุดในเมืองหม่องดอว์ของรัฐยะไข่ ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตนับสิบนาย แต่กองทัพเมียนมาและกลุ่มชาวพุทธที่มีแนวคิดสุดโต่งก็ได้ใช้กำลังตอบโต้ชาวโรฮิงญาโดยไม่เลือกเป้าหมาย และมีรายงานจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่ากลุ่มชาวพุทธและทหารเมียนมาได้บุกเข้าปราบปราม ขับไล่ ทำร้ายร่างกาย และข่มขืนพลเรือนชาวโรฮิงญา โดยไม่ได้มีการไต่สวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าชาวโรฮิงญาที่ถูกทำร้ายหรือจับกุมนั้นเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุของกลุ่ม ARSA จริงหรือไม่ 

นายอันตอนิอู กูแตร์รัช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่รอบใหม่ว่าเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และย้ำว่า "ถ้าไม่ใช้คำว่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ไม่รู้ว่าจะใช้คำว่าอะไร" เพราะชาวโรฮิงญาประมาณ 600,000 คน ต้องอพยพลี้ภัยจากรัฐยะไข่เพื่อข้ามฝั่งไปยังเมืองค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่อาจช่วยเหลือกลุ่มผู้อพยพได้อย่างทั่วถึง ไม่เว้นแม้แต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งไม่อาจพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยได้ เพราะชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เป็นคนไร้สัญชาติ ไม่ได้รับการยอมรับสถานะพลเมืองจากรัฐบาลเมียนมา

ด้านนางซูจีและรัฐบาลเมียนมายืนยันมาตลอดว่าไม่เคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ตามที่องค์กรต่างประเทศกล่าวหา ทั้งยังไม่ยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาในอดีต และยืนยันว่าชาวโรฮิงญาคือชาวเบงกาลี ซึ่งเป็นผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าชาวโรฮิงญาหลายครอบครัวจะมีหลักฐานยืนยันว่าอยู่ในรัฐยะไข่มานานหลายชั่วอายุคน ยูเอ็นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาดำเนินการพิสูจน์หลักฐานและคัดกรองผู้อพยพลี้ภัยในเมืองค็อกซ์บาซาร์กลับประเทศเมียนมาโดยเร็วที่สุด 

Myanmar ASEAN_Rata.jpg

ส่วนการคืนเหรียญเกียรติยศของเกลดอฟไม่ใช่การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ครั้งแรกที่มีต่อนางซูจี เพราะในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดาไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต และมาลาลา ยูซาฟไซ นักต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของผู้หญิงในปากีสถานและทั่วโลก ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเช่นเดียวกับนางซูจี เรียกร้องให้นางซูจีปกป้องชาวโรฮิงญาที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการกระทำของกองทัพและกลุ่มสุดโต่งในเมียนมา เพื่อให้สมกับุคณค่าและความหมายของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ได้รับไป และในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษซึ่งนางซูจีเป็นศิษย์เก่า ก็ได้ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการปลดภาพนางซูจีที่อยู่ในอาคารแห่งหนึ่งของสถาบันลงเช่นกัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกลดอฟกล่าวทิ้งท้ายต่อสภาฯ ดับลิน โดยระบุว่าเมื่อไหร่ที่มีการริบเหรียญคืนจากนางซูจี เมื่อนั้นเขาจึงจะมาขอรับเหรียญของตัวเอง 

อย่างไรก็ตาม กระแสกดดันนางซูจีที่มาจากนานาประเทศ สวนทางกับความนิยมของนางซูจีและกองทัพเมียนมาที่ได้รับจากประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มชาวพม่าและกลุ่มชาวพุทธซึ่งไม่พอใจกลุ่มชาวโรฮิงญา