ไม่พบผลการค้นหา
ฉันเป็นแฟนประจำของข่าวการพบผี เจอผี หรือถ่ายติดผี ไม่ว่าจะเป็นผีปอบ ผีกะ ผีกระหัง ฯลฯ ถึงล่าสุดกับข่าวชาวบ้านพบเจอ 'กระสือ' ที่ดูเหมือนจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ขนาดมีคนไปติดตามเฝ้าดูตรงจุดที่มีผู้พบเห็นกระสือ จนร้านส้มตำแถวนั้นขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ประหนึ่งว่ามีงานวัดย่อมๆ

สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของเหตุการณ์เห็นผีก็คือ ไม่ว่าคนเห็นจะยืนยันมั่นเหมาะขนาดไหน แต่รูปถ่ายที่เอามาโชว์ก็มักจะไม่ชัดเอาซะเลย ซึ่งไอ้ภาพไม่ชัด หรือเบลอจนดูแทบไม่ออกแบบนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงแม้เทคโนโลยีการบันทึกภาพจะดีขึ้นขนาดไหนก็ตาม เวลามีข่าวแบบนี้จึงมีกระแสต้อนรับทั้งมองว่าจริง และมองว่างมงาย

สำหรับคนที่เฝ้าสังเกตการณ์ข่าวเห็นผีมาโดยตลอดอย่างฉัน จะฟันธงว่างมงายก็ดูไม่ให้เกียรติความเชื่อของคนอื่นเกินไป ดังนั้น สิ่งที่จะแลกเปลี่ยนนำเสนอกันได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องความรับรู้ในตัวตนของ 'กระสือ' ที่คนในอดีตอาจมองคนละแบบกับคนในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการผีไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุค

combo-โปรสเตอร์หนังไทยเรื่องกระสือ.jpg

บ้านเรามีหนังที่มีกระสือเป็นตัวเอกหลายเรื่อง เช่น ตำนานกระสือ (ซ้าย) หนังปี 2545 ของคุณบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ และกระสือวาเลนไทน์ (ขวา) หนังปี 2549 ของคุณต้อม ยุทธเลิศ ทั้งสองเรื่องมีการใส่ลูกเล่นให้กระสือต่างออกไปจากความรับรู้เดิมๆ เช่น ตำนานกระสือ นางเอกไม่ได้แค่ถอดหัวแต่ต้องแหวะอกเพื่อให้เครื่องในหลุดมาออกทั้งยวง ส่วนกระสือวาเลนไทน์ มีการสอดแทรกเรื่องกฎแห่งกรรมเข้าไป


'กระสือ' ตัวแทนความกลัวในการ 'คลอด'

กระสือถือเป็นผีเก่าแก่ของบ้านเรา เพราะมีชื่อบันทึกอยู่ในกฎหมายตราสามดวงสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมักกล่าวถึงรวมๆ กับผีชนิดอื่นๆ เช่น ผีฉมบ ผีจะกละ และก็อย่างที่เห็นกันว่าทั้งฉมบและจะกละ ต่างกลายเป็นผีที่ถูกลืมไปแล้ว อย่าว่าแต่หน้าตารูปร่างเป็นอย่างไรเลย ขนาดชื่อทุกวันนี้ก็แทบไม่เคยได้ยิน ขณะที่กระสือของเรายังอยู่ยั่งยืน วันดีคืนดียังมีผู้อ้างว่าพบเห็นได้อยู่

'พระยาอนุมานราชธน' เจ้าของนามปากกา 'เสฐียรโกเศศ' เขียนไว้ในหนังสือ 'เรื่องผีสางเทวดา' อธิบายถึงกระสือไว้อย่างยาวว่า ผีกระสือมักเป็นยายแก่ๆ ชอบกินของสดของคาวและอาจม และที่เป็นลายเซ็นเฉพาะตัวก็คือ “มันไปแต่หัวและตับไตไส้พุงเท่านั้น ส่วนร่างกายไม่ไปด้วยคงทิ้งไว้แต่ที่บ้าน เมื่อไปจะเห็นเป็นดวงไฟเป็นแสงเรืองวาบๆ...” ถ้าใครคลอดลูกใหม่ๆ กระสือได้กลิ่นคาวก็จะ “ไปกินหญิงคลอดลูก หรือไม่ก็กินเด็กแดงเสีย”!!!

จากทัศนะของพระยาอนุมานราชธน จะเห็นว่ากระสือไม่ได้มีของโปรดแค่รกเด็กหรือน้ำคร่ำคาวๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นภัยถึงขนาดกินแม่กินเด็กได้ด้วย นี่ถือเป็นภัยแห่งการคลอดโดยแท้ เป็นที่มาของความเชื่อในการเอาขวากหนามไปสุมใต้ถุนบ้าน ให้กระสือกลัวหนามเกี่ยวไส้ไม่กล้ามาข้องแวะบ้านที่มีการคลอดลูก แถมในสมัยโบราณอย่างน้อยก็ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงขนาดมีการตรากฎหมายว่าผู้ใดถูกจับได้ว่าเป็น “ฉมบ กระสือ จะกละ” จะต้องได้รับโทษ เพราะถือว่าเป็นผีที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เดือดร้อนชาวบ้าน (ซึ่งนี่ทำให้มีการใส่ความกัน และผู้ถูกใส่ความมักเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรองในสังคมต่ำ เช่น คนชายขอบ คนแก่ คนยากจน ฯลฯ คล้ายๆ กับในกรณีของ 'ปอบ')

ผีที่คุกคามหญิงตั้งครรภ์ หญิงคลอดลูก และทารกแบบกระสือนี้ ปรากฏว่ามีอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียอาคเนย์บ้านเรา เช่น ในฟิลิปปินส์มี 'มานานังเกล' (Manananggal) ผีดูดเลือดปีกค้างคาวที่ชอบมาลักกินทารกจากครรภ์มารดา ขณะที่ในคาบสมุทรมลายู มีความเชื่อเรื่อง 'เปนังกาลัน' (Penanggalan) หรือผีที่มีแต่หัวกับไส้ชอบใช้ลิ้นแหวกช่องไม้กระดานไปกินเลือดจากแม่ที่กำลังคลอดลูก ฯลฯ

ิblog-กระสือ

เพื่อนบ้านของเรา 'กัมพูชา' มีความเชื่อเหมือนกันเรื่องกระสือ บ้านเขาเรียกว่า 'อาป' หรือ 'อัป' (Ahp - អាប) ถูกนำมาทำหนังละครมากมายไม่ยิ่งหย่อนจากเรานัก ที่เห็นเป็นภาพจากหนังกระสือของกัมพูชา คงเอกลักษณ์กระสือคล้ายๆ กันคือ ความเป็นผีผู้หญิงแลบลิ้นเลียปาก มีแต่หัวกับไส้ และไฟสีเขียวๆ 

ถ้าหากมองว่าผีเหล่านี้เป็นจินตนาการไม่มีจริง ก็คงเป็นจินตนาการที่เกิดจากความ 'กลัว' ในการตั้งครรภ์และการคลอดของมนุษย์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคอดีตที่ระบบสาธารณสุขไม่ดี ทั้งการตั้งครรภ์และการคลอดล้วนมีความเสี่ยงสูง ทั้งการบาดเจ็บ การตกเลือด ไปจนถึงการติดเชื้อ เมื่อวิทยาการในยุคนั้นยังไม่เพียงพอให้หาสาเหตุการสูญเสีย สิ่งที่เหนือธรรมชาติเช่น 'กระสือ' จึงถูกนำมาอธิบายในที่สุด


รูปร่างของ 'กระสือโบราณ' ไม่เหมือนกระสือยุคปัจจุบัน?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า กระสือมีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ โดยพระยาอนุมานราชธน อธิบายไว้ว่าพวกนางล่องลอยไปในอากาศด้วยหัวพร้อมเครื่องใน และมีแสงวูบวาบ คำอธิบายนี้เขียนลงในหนังสือ 'เรื่องผีสางเทวดา' ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2495 แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อลองหาเอกสารในยุคเก่าๆ กว่านี้ดู กลับไม่พบการอธิบายรายละเอียดตัวตนกระสือในเรื่อง 'หัวกับไส้' มีเพียงเฉพาะอุปนิสัยการกิน และการมีแสงเรืองๆ เท่านั้น

อุปนิสัยการกินของกระสือ เช่น ความมูมมาม ชอบของคาวสด และอาจมเหม็นๆ มีเปรียบเปรยอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ตอน 'นางเทพทอง' ตอนตั้งท้องขุนช้างและมีอาการแพ้ท้องอยากกินนั่นนี่ 

“น้ำลายไหลรี่ดังผีกระสือ

ร้องไห้ครางฮืออ้อนวอนผัว 

เหมือนหนึ่งตาหลวงเข้าประจำตัว 

ยิ่งให้กินตละยั่วยิ่งเป็นไป”

ส่วนอีกตอนคือ ตอนขุนช้างถูกขุนแผนซัดคาถาอัดทวารจนถ่ายท้องเรี่ยราด คนแถวๆ นั้นได้กลิ่นเหม็นก็ถึงกับด่าแขวะนึกว่ามีกระสือกินอาจมผ่านมา 

“ยายมีร้องมาว่าอะไร 

กระสือฤามิใช่เหม็นกลิ่นขี้ 

ขุนช้างร้องฮ้ายยายอัปรีย์ 

วิ่งรี่เข้ามาในศาลา”

ลูกไฟ.jpg

ส่วนเอกลักษณ์เรื่องแสงเรืองๆ นั้นมีบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์เหมือนกัน เช่น 'มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า' บันทึกว่าครั้งหนึ่ง 'พระเจ้าอนรธามังช่อ' เคยเนรเทศพระมเหสีชาวเงี้ยวออกจากวัง เพราะพระบรมธาตุเสด็จมาอยู่ในต่างหูของพระนาง จนเกิดแสงสว่างวูบวาบที่พระกรรณในเวลากลางคืน พวกชาวสนมเห็นแสงก็สำคัญไปว่าพระนางเป็น 'กระสือหรือผีกระมบ' (ฉมบ) จึงต้องเนรเทศตามระเบียบ

จากตรงนี้จะเห็นว่า สาระสำคัญของการใส่ความกันว่าเป็นกระสือนั้นอยู่ที่การมี 'แสงสว่าง' สอดคล้องกับการอธิบายถึงกระสือใน 'รำพันพิลาป' ของสุนทรภู่ ที่ระบุว่า “แม้นพรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป สว่างวูบวงแดงดั่งแสงกระสือ” 

และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือวรรณคดี 'ลิลิตเพชรมงกุฎ' ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเมื่อครั้งยังเป็น 'หลวงสรวิชิต' ในสมัยกรุงธนบุรี ลิลิตเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลจาก 'เวตาลปัญจวึศติ' เล่าถึงพระเพชรมงกุฎ ที่ออกอุบายใส่ความว่าเจ้าหญิงประทุมา เป็นยักษิณีผีกระสือ เพื่อลวงให้พระบิดาของเจ้าหญิงเนรเทศนางออกจากเมือง เปิดทางให้ตนเองรับนางไปเป็นชายาได้โดยไม่มีใครขัดขวาง การนี้จะลุล่วงได้ก็ต้องมีผู้ช่วยคนสำคัญ นั่นคือ 'นายพุฒศรี' พี่เลี้ยงของเจ้าชาย โดยในลิลิตเล่าว่าพุฒศรีใช้ 'กำมะถัน' โยนลงหม้อไฟทำให้เกิดแสงวูบวาบที่ชายป่า ชาวเมืองเห็นก็ขนพองสยองเกล้าเข้าใจว่าเป็นแสงกระสือ  

  • ชาวเมืองเลื่องเล่าล้วน ชวนกัน

ขึ้นบนปราการผัน เพ่งแท้

เห็นแสงสุพรรณถัน เรืองเรื่อ ไปนา

บอกแก่กันโน่นแน้ พิศแล้วแสยงขน

  • เหวยชาวนครทั่วทั้ง หญิงชาย

ดูกระสือน้ำลาย ยืดย้อย

เดินเที่ยวกินเขียดสบาย กลางทุ่ง

วาบวู่สูพลันได้ ติดเต้าตามทาง

บทสุดท้ายจะเห็นว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกอาการออกหากินของกระสือว่า 'เดิน' ไม่ใช่การลอย การเหาะแต่อย่างใด จึงสันนิษฐานได้ว่ากระสือในโลกทัศน์คนยุคเก่าคงมีแขนมีขา ต่างจากปัจจุบันที่ไม่รู้พัฒนามาอย่างไรจนลดรูปเหลือแต่หัวกับไส้


กระสือมีจริงไหม?

คำถามว่ากระสือมีจริงไหม อาจอยู่ที่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เหมือนที่รายการทีวีชอบขึ้นคำว่า “เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ผู้ชมควรใช้วิจารณญาณในการรับชม” นั่นแหละ แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนไทยเราพยายามหาคำอธิบายเรื่องนี้มานาน หนึ่งในนั้นคือ 'เจ้าพระยาทิพากรวงษมหาโกษาธิบดี' (ขำ บุนนาค) ข้าราชการผู้ใหญ่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ท่านผู้นี้ได้แต่งหนังสือ 'แสดงกิจจานุกิตย์' ซึ่งเป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่อธิบายความรู้ต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ ศาสนา ภูมิศาสตร์ ฯลฯ อย่างเข้าใจง่าย โดยเจ้าคุณฯ ได้แจ้งปณิธานในการแต่งหนังสือเล่มนี้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าจึ่งคิดเรื่องราวกล่าวเหตุผลต่างๆ แก้ในทางโลกยบ้าง ทางศาสนาบ้าง ที่มีพยานก็ชักมากล่าวไว้ ที่ไม่มีพยานเปนของที่ไม่เหนจริงก็คัดค้านเสียบ้าง... เด็กทั้งหลายจะได้แก้ไขตามสำนวนนี้...” 

ในหนังสือแสดงกิจจานุกิตย์ มีอยู่ตอนหนึ่งที่พูดถึงปรากฏการณ์เกี่ยวกับ 'แสง' ต่างๆ เช่น แสงเลื่อนลอยในอากาศ ที่เกิดจากพระธาตุเสด็จ, ผีพุ่งไต้ ที่เชื่อกันว่าเป็นเทวดาจุติ และดวงไฟบนยอดกระโดงเรือ ที่เชื่อกันว่าเป็นพรายน้ำ ซึ่งแน่นอนว่ามีการกล่าวถึง 'แสงกระสือ' ด้วย โดยในการอธิบายตรงนี้ เจ้าพระยาทิพากรวงษมหาโกษาธิบดี ท่านชี้แจงว่า

“ที่เรียกว่าผีกระสือผีโขมด เหตุนี้เขาได้ทดลองแล้ว เปนขึ้นด้วยของโสโครกของน่าว (เน่า) ในแผ่นดิน ผีโขมดก็เปนด้วยน้ำน่าวในท้องทุ่ง จึ่งปรากฏให้เหนเปนดวงๆ ไป ของนี้ไปไม่ได้ด้วยกำลังอายดินแลอายน้ำ (ไอดินและไอน้ำ) ขับเท่าไหร่ ก็เปนอยู่เพียงเท่านั้น ที่ว่าปลาน่าวเปนเรืองๆ ก็เหมือนกันกับเหนผีกระสือผีโขมด” 

นี่เป็นคำอธิบายเรื่องกระสือเมื่อเกือบ 150 ปีก่อน ดังนั้น จะบอกว่าคนโบราณเขาเชื่อถืออะไรงมงายก็ไม่ถูกนัก

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog