ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ก่อตั้ง 'พรรคสามัญชน' ประกาศจุดยืนไม่สังฆกรรม 'นายกฯคนนอก' เน้นความสำคัญรากฐานประชาธิปไตย สะท้อนเสียงภาคประชาชนเข้าสู่สภา

หลังคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ไฟเขียวในการขอจดแจ้งตั้งพรรคการเมือง ล่าสุดมีการพรรคการเมืองหน้าใหม่ 58 พรรค ที่ประสงค์ขอตั้งพรรคเพื่อลงสู่เวทีการเมืองครั้งนี้ รวมถึง 'พรรคสามัญชน'

วอยซ์ ออนไลน์ ได้นัดสัมภาษณ์พิเศษถึงการตั้งพรรคและโมเดลในการลุยสนามการเมือง

นายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 'พรรคสามัญชน' เล่าถึงวัตถุประสงค์ในการตั้งพรรคสามัญชน ว่า คนจน คนชายขอบ หรือ ชนชั้นกลาง ที่พวกเขาไม่อำนาจหรืออภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ควรจะมีโอกาสเข้าไปในสภา เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่คนที่จะเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร(ส.ส.)หรือรัฐมนตรี ต้องมีโปรไฟล์ดี ซึ่งอาจเป็นข้อดีที่ได้คนมีความสามารถเข้าไปทำงาน แต่ในทางกลับกันเสียงของคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาส ที่ประสบปัญหาทั่วหัวระแหงของสังคม เสียงของคนเหล่านี้ก็ควรมีโอกาสถูกพูดถึงอย่างจริงจังในสภาเช่นกัน

"เราเชื่อเรื่องประชาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยที่มาจากฐานรากจริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่บีบบังคับ" กิตติชัย ระบุ


ส่วนความคาดหวังในการตั้งพรรคการเมือง กิตติชัยเล่าต่อว่าในสังคมไทยมีกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกับคนชายขอบเยอะมาก ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีข้อเสนอและผ่านการทำงานร่วมกับผู้ประสบปัญหาจริง จึงมีแนวคิดรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองผลักดันให้เป็นนโยบายขนาดใหญ่ เพื่อสะท้อนเสียงของคนจน คนด้อยโอกาส และเป็นสะพานเชื่อมให้กับกลุ่มคนภาคประชาชนเหล่านี้เข้าไปในสภา 


พรรคสามัญชน.JPG

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ

ขณะเดียวกันพรรคสามัญชนจะมีลักษณะรับซื้อนโยบายจากคนทำงานจริง ก่อนรวบรวมเป็นนโยบายร่วมกัน ซึ่งตรงนี้เราถือว่าเป็นจุดแข็งมากกว่าพรรคอื่น ส่วนความหวังที่ตั้งเป้าไว้อย่างน้อยคือ 'รัฐมนตรี' หนึ่งกระทรวง

'สามัญชน' ไม่ร่วมสังฆกรรมรัฐบาล 'นายกฯคนนอก'

แน่นอนว่าแม้พรรคสามัญชนจะเป็นพรรคหน้าใหม่ แต่พวกเขามีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ร่วมรัฐบาล 'นายกรัฐมนตรีคนนอก' และมีโมเดลสำคัญ 3 ข้อคือ 1. 'ประชาธิปไตยจากฐานราก' ที่มาจากเสียงของประชาชน และไม่ใช่การบังคับ 2.'สิทธิมนุษยชน' เพราะว่าหลักการนี้จะเป็นประกันให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น 3. 'ความเท่าเทียมและความเป็นธรรม' 


"เราไม่ร่วมกับรัฐบาลนายกฯคนนอก โดยหลักการเราเห็นว่าควรยึดโยงกับประชาชน ซึ่งหมายถึงคุณก็ต้องลงเลือกตั้งด้วย" กิตติชัย ระบุ


ส่วนกฎหมายที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญมัญชน เห็นว่าหากมีโอกาสเข้าไปในสภา ควรมีการผลักดันให้แก้กฎหมายที่ริดรอนสิทธิประชาชน รวมถึงมีเครื่องมือเป็นกลไกให้ประชาชนตรวจสอบภาครัฐและภาคเอกชน และทำให้กระบวนยุติธรรมมีข้อกังขาน้อยลง ซึ่งมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการคืนอำนาจให้กับประชาชน จนถึงการผลักดันรัฐสวัสดิการ

สำหรับความเข้มข้นของสนามการเมืองครั้งนี้ มีพรรคหน้าใหม่ที่น่าจับตาหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็น พรรคเกรียน,พรรคอนาคตใหม่,พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งกิตติชัยมองว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าหลายพรรค พยายามจะกลับมาเข้าสู่กติกาตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าตอนนี้ยังมีเงื่อนไขในการดำเนินการในการเคลื่อนไหวทางการเมือง 

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog