ไม่พบผลการค้นหา
'จีนา แฮสเปล' ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอของสหรัฐฯ เตรียมให้ปากคำเรื่องการทำงานในอดีตต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา รวมถึงการตั้งคุกลับและการซ้อมทรมานนักโทษในประเทศไทย

คณะกรรมาธิการวุฒิสภาแห่งสหรัฐฯ เตรียมเรียกตัว 'จีนา แฮสเปล' รองผู้อำนวยการซีไอเอ เข้าให้ปากคำในเร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาว่าแฮสเปลมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอคนใหม่ หลังจากได้รับการเสนอชื่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีหสหรัฐฯ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

เว็บไซต์เดอะวอชิงตันโพสต์และนิวส์วีครายงานว่า คณะกรรมาธิการวุฒิสภา เรียกร้องให้แฮสเปลและซีไอเอเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการคุมขังและสอบปากคำนักโทษและผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งจัดตั้งและดำเนินการในต่างประเทศ โดยถูกเรียกว่า 'คุกลับ' หรือ Cat's Eye ซึ่งในเวลาต่อมาถูกอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา สั่งสอบสวนย้อนหลัง ก่อนจะมีคำสั่งห้ามดำเนินโครงการดังกล่าวต่อ เพราะการดำเนินงานต่างๆ เข้าข่ายซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชน

สื่อสหรัฐฯ รายงานอ้างอิงข้อมูลรัฐบาลที่ถูกเปิดโปงโดยเว็บไซต์วิกิลีกส์ว่า แฮสเปลเป็นผู้บังคับบัญชาคนหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจสั่งการและควบคุมดูแลคุกลับของซีไอเอในต่างประเทศ รวมถึงคุกลับในประเทศไทย ซึ่งใช้เป็นสถานที่คุมขังอาบู ซูไบดาห์ สมาชิกกลุ่มมูจาฮิดีนซึ่งถูกจับกุมที่ปากีสถาน และถูกนำตัวมาสอบปากคำด้วยวิธีทรมานในไทย ทำให้อดีตประธานาธิบดีโอบามาระบุว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นคือประวัติศาสตร์อันดำมืดของสหรัฐฯ"

นอกจากนี้ การเสนอชื่อแต่งตั้งแฮสเปลดำรงตำแหน่ง ผอ.ซีไอเอคนใหม่ ยังถูกต่อต้านจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ 24 องค์กร รวมถึงฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ซีไอเอเผยข้อมูลการทำงานของแฮสเปลในอดีตอย่างละเอียด เพราะมีรายงานว่าแฮสเปลเป็นผู้สั่งทำลายบันทึกเหตุการณ์ทรมานนักโทษในคุกลับทิ้งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แดน โคตส์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลการทำงานของซีไอเอ ยืนยันว่าแฮสเปลมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอคนใหม่แทนนายไมค์ ปอมเปโอ ซึ่งได้รับเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของทรัมป์ พร้อมย้ำว่า ข้อมูลเรื่องการทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พาดพิงถึงแฮสเปลนั้นเป็นเรื่องบิดเบือน ไม่ตรงกับความเป็นจริง

โคตส์ยืนยันว่าแฮสเปลจะเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ซีไอเอพิจารณาข้อมูลลับอย่างละเอียด และตัดสินใจได้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลใดต่อสาธารณชนบ้าง โดยที่จะไม่กระทบต่อการทำงานหรือความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าว ซึ่งหลายคนยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ในหลายประเทศ และไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เอบีซีรายงานข้อสันนิษฐาน 2 ประการเกี่ยวกับพิกัดคุกลับซีไอเอสหรัฐฯ ในไทย เมื่อปี 2545 โดยกระแสหนึ่งระบุว่าคุกลับอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และอีกกระแสหนึ่งคาดว่าคุกลับอยู่ในจังหวัดอุดรธานี ไม่ไกลจากที่ตั้งสถานีข่าววอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) ประจำประเทศไทย

คุกลับดังกล่าวถูกใช้เป็นที่คุมขังอาบู ซูไบดาห์ และผู้ต้องสงสัยอีกรายหนึ่งซึ่งถูกจับกุมที่นครดูไบในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ทั้งยังมีการใช้วิธี 'วอเตอร์บอร์ดดิง' เพื่อเค้นข้อมูล แต่ผลการไต่สวนในสมัยรัฐบาลโอบามา ระบุว่าการเค้นความลับด้วยวิธีทรมานผู้ต้องหา ไม่ได้ช่วยให้ซีไอเอเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: