ไม่พบผลการค้นหา
เอดีบีชี้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียฟื้นตัว รับอานิสงส์ส่งออกเพิ่มขึ้น ความต้องการบริโภคภายในขยายตัวรวดเร็ว จับตา 'เอเชียใต้' ฟื้นตัวเร็วสุด ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 4 รับแรงหนุนรัฐเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนลงทุน บริโภคภายในกระเตื้อง ชี้ 2 ปัจจัยเสี่ยง 'การค้าโลกระอุ -หนี้ภาคเอกชนปะทุ'

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook : ADO) ปี 2561 ซึ่งเป็นรายงานหลักทางเศรษฐกิจประจำปีของเอดีบี ได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสูงถึงร้อยละ 6 ในปี 2561 และ ร้อยละ 5.9 สำหรับปี 2562 ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 6.1 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในปี 2560 หากไม่นับรวมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Economies) ที่มีรายได้สูง คาดว่า GDP จะสูงถึงร้อยละ 6.5 ในปี 2561 และ 6.4 สำหรับปี 2562 ลดลงจากร้อยละ 6.6 ในปี 2560  


"แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากนโยบายที่สมเหตุสมผล การขยายตัวปริมาณการส่งออก และอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็ง" นายยาซุยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว

พร้อมกับระบุว่า การเชื่อมโยงทางการค้าของภูมิภาคที่เข้มแข็งและนโยบายตั้งรับทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ช่วยวางรากฐานทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเพื่อให้ทนต่อปัจจัยความเสี่ยงภายนอกได้เป็นอย่างดี ซึ่งรวมถึงความตึงเครียดทางการค้า และการไหลออกอย่างรวดเร็วของเงินทุน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดย GDP รวมของสหรัฐอเมริกา ประเทศโซนยุโรป และญี่ปุ่นจะสูงถึงร้อยละ 2.3 ในปี 2561 และจะชะลอตัวลงที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2562 การบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีล่าสุด (Tax Cuts) จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแทน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโซนยุโรปและญี่ปุ่น

ภาคบริการของประเทศจีนซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 ในปี 2560 ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงที่ร้อยละ 6.6 และ 6.4 ในปี 2562 หลังจากมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่ร้อยละ 6.9 ในปี 2560 สำหรับประเทศจีน อุปสงค์ภายในประเทศและในต่างประเทศที่เข้มแข็ง ผนวกกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ได้วางรากฐานซึ่งช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาคอย่างต่อเนื่อง

เอเชียใต้ยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในโลก สาเหตุหลักเกิดจากการฟื้นตัวของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 7.3 สำหรับปีงบประมาณ 2561 และ 7.6 สำหรับปีงบประมาณ 2562 เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในปี 2560 ที่ร้อยละ 6.6 ผลกระทบจากการยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่าสูงได้หมดไป และการดำเนินการเก็บภาษีในสินค้าและบริการอย่างเต็มรูปแบบจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจของอินเดียไปจนถึงปี 2562

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงได้รับอานิสงส์จากการกระเตื้องขึ้นของการค้าโลกและการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราการเติบโตของอนุภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.2 ในปี 2561 และ 2562 ซึ่งเป็นอัตราคงเดิมจากเมื่อปี 2560 การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งจะช่วยเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนเศรษฐกิจของเวียดนามจะได้รับแรงสนับสนุนจากการเพิ่มศักยภาพการผลิตในประเทศ  

ส่วนเศรษฐกิจไทย เอดีบีคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4 ในปี 2561 และร้อยละ 4.1 ในปี 2562 เนื่องจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศที่กระเตื้องขึ้น

อัตราการเติบโตของเอเชียกลางคาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 4.0 ในปี 2561 และ 4.2 ในปี 2562 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นปัจจัยเกื้อหนุนหลัก ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของแปซิฟิกคาดไว้ที่ร้อยละ 2.2 และ 3.0 สำหรับปี 2561-2562 อันเนื่องมาจากปาปัวนิวกินีซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิก ได้เริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติชั่วคราว

ราคาสินค้าผู้บริโภคและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในเอเชียที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่สูงยิ่งขึ้นในภูมิภาค ดัชนีราคาผู้บริโภคคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี 2560 ไปอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2561 และ 2562 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีของภูมิภาค ที่ร้อยละ 3.7

ความเสี่ยงต่างๆ ถือเป็นปัจจัยลบต่อการประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยความเสี่ยงหลักที่เกิดขึ้นคือความกังวลว่าความตึงเครียดทางการค้าจะบานปลาย แม้ว่านโยบายขึ้นภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่ส่งผลต่อการค้าเท่าใดนัก แต่การเคลื่อนไหวต่อไปของสหรัฐและการโต้ตอบของประเทศต่างๆ ที่มีต่อสหรัฐฯ จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนในเอเชียและแปซิฟิกถดถอยลง นอกจากนั้นการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นตัวเร่งการไหลออกของเงินทุน แต่สภาพคล่องที่มีจำนวนมากในภูมิภาคจะช่วยบรรเทาผลกระทบความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะสามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้เป็นอย่างดี

หนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวลของเศรษฐกิจบางประเทศในเอเชีย จากการศึกษาของเอดีบีพบว่า การสะสมหนี้สินจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น หนี้ภาคเอกชนในประเทศเอเชียกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก และผลของการก่อหนี้ของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกซึ่งมีผลจำกัดต่อการเพิ่มผลผลิต ได้สะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการลงทุนที่งอกงามเสมอไป ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายสามารถรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้จากการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินในภูมิภาค