การแข่งขันโปโลช้างชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมกีฬาเพื่อการกุศลรายการใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถระดมทุนจากการจัดงานตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่ผ่านมาได้กว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งได้นำไปใช้สนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของช้างป่าและช้างบ้านในประเทศไทย
การแข่งขันครั้งนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 11 มีนาคม 2561 ณ สนามโปโลชั่วคราวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
การแข่งขันในปีนี้จะมีช้างที่เคยเร่ร่อนตามท้องถนนเข้าร่วมงานจำนวน 20 เชือก โดยช้างทุกเชือกจะได้รับการตรวจสุขภาพจากองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมปศุสัตว์ พร้อมได้รับการจัดสรรเวลาพักผ่อน อาหาร และวิตามินอย่างเหมาะสมตลอดระยะเวลาในการเข้าร่วมงาน
นอกจากนี้ เนื่องจากสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของช้างที่เข้าร่วมงานเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการกำหนดเกณฑ์อย่างเคร่งครัดเพื่อให้มั่นใจว่าช้างทุกตัวที่เข้าร่วมงานจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยช้างที่เข้าร่วมงานต้องเป็นช้างบ้านที่ได้รับการลงทะเบียนและมีไมโครชิพถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่ช้างป่าหรือช้างที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ในระหว่าง 4 วันของการจัดงานจะมีการจัดกิจกรรมที่เหมาะผู้เข้าร่วมทุกเพศทุกวัย อาทิ เกมการแข่งขันโปโลช้าง ขบวนพาเหรดช้าง กิจกรรมวันช้างน้อยสำหรับเด็ก วัน Ladies’ Day กิจกรรมความรู้เกี่ยวกับช้างไทย ซุ้มเทศกาลอาหารไทย โดยมีเชฟจาก 15 ร้านดังเข้าร่วมงานด้วย อาทิ เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็กอาหารไทย อาจารย์วันดี ณ สงขลา โรงเรียนสอนอาหารครัววันดี ร้านบลูเอเลเฟ่นท์ และเชฟสุรกิจ เข็มแก้ว เชฟกระทะหล่อ พร้อมการแสดงดนตรีและความบันเทิงอีกมากมาย
รายได้จากการจัดงานในปี พ.ศ. 2561 จะนำไปสนับสนุนโครงการของ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการสนับสนุนสัตวแพทย์และการศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของช้างและควาญช้างในจังหวัดสุรินทร์
รายได้จากการจัดงานในปีที่ผ่านๆ มา ได้นำไปใช้ในการสนับสนุนโครงการต่างๆ มากมาย ทั้งการจัดอบรมควาญช้างและสัตวแพทย์ในเรื่องการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของช้าง การสร้างหอคอยดูช้างเพื่อเตือนภัยสำหรับหมู่บ้านที่ประสบปัญหาช้างป่าบุกเข้าทำลายพืชผลเพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและช้าง สนับสนุนทริปเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติเพื่อการเรียนรู้เชิงอนุรักษ์สำหรับเด็กนักเรียน การอบรมควาญช้างเพื่อให้เข้าใจความสำคัญของช้างป่า สนับสนุนสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมประชุมทางวิชาการในต่างประเทศ สนับสนุนรัฐบาลไทยในการอบรมควาญช้างให้มีทักษะเบื้องต้นในการปฐมพยาบาลช้างและสามารถให้การช่วยเหลือสัตวแพทย์ โครงการเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างกับคนทั้งในประเทศไทยและในประเทศแทนซาเนีย รวมถึงการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อต่อต้านการรุกล้ำผืนป่าสำหรับผู้ดูแลอุทยานแห่งชาติในกัมพูชา
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการช้างไทยบำบัด ที่ได้ร่วมกับคณะกายภาพบำบัดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 สร้างคลินิกช้างบำบัดสำหรับเด็กดาวน์ซินโดรม คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2561 นี้ และการอบรมการฝึกช้างบ้านโดยวิธีเชิงบวก (Positive Reinforcement Target Training) ครั้งแรกของเอเชียในประเทศพม่า ในปี พ.ศ. 2560 และได้ขยายการอบรมไปยังช้างบ้านกว่า 200 เชือก