ผู้บริหารของเอทีแอนด์ที นายแรนดอล สตีเฟนสัน บอกว่าบริษัทพร้อมสู้คดีในศาล หลังจากที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ สั่งฟ้องบริษัทเพื่อระงับการซื้อกิจการหนนี้ ที่รวมแล้วเป็นมูลค่าราว 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนนายมาคัน เดลราฮิม ผู้อำนวยการคนใหม่ของกรมต่อต้านการผูกขาด กระทรวงยุติธรรมอ้างว่า การรวมกิจการระหว่างสองยักษ์ใหญ่จะทำให้กิจการใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีอำนาจในด้านการตลาดมากเกินไปในธุรกิจสื่อที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
'ไทม์ วอเนอร์' มีกิจการสื่อในมือหลายแขนง รวมไปถึงโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สตีเฟนสันแสดงความประหลาดใจที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจยื่นฟ้อง เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีการต่อต้านความเคลื่อนไหวของสองบริษัท และทั้งสองบริษัทก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งกันเองในทางธุรกิจ เขาชี้ว่ามาตรการของกระทรวงยุติธรรมนั้น “สวนทางกับเหตุและผลและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
ต่อข้อถามที่ว่าเรื่องนี้มีส่วนเชื่อมโยงกับการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ชอบซีเอ็นเอ็นอย่างมากหรือไม่ เขาปฏิเสธว่าไม่ทราบ แต่ก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากจะมีคำถามเช่นนี้โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะการใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของรัฐบาลกำลังเป็นไปในทิศทางที่ผิดแผกไปจากเดิม
ซีเอ็นเอ็นระบุว่าสตีเฟนสันให้ความเห็นว่า การดำเนินการนี้จะส่งผลกระทบ เพราะธุรกิจจะไม่แน่ใจว่าเงื่อนไขที่ชัดเจนในการทำธุรกิจคืออะไรแน่ พร้อมกันนั้นเขาบอกว่า หากเรื่องนี้ใช้เวลาไม่นานในการคลี่คลาย ทั้งสองบริษัทจะเดินหน้าในข้อตกลง แต่หากใช้เวลานานเกินไปก็มีโอกาสจะยกเลิก ด้านบลูมเบิร์กรายงานว่า การฟ้องร้องนับเป็นมาตรการที่ผิดไปจากแนวทางเดิมที่ทางการเคยสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันระหว่างกิจการที่เป็นธุรกิจรับกระจายสินค้ากับผู้ผลิตสินค้าในลักษณะที่เรียกว่า 'การรวมกิจการในแนวดิ่ง'
อิทธิพลของทรัมป์หรือไม่?
ประเด็นที่หลายคนหยิบมาถกเถียงกันจึงเป็นเรื่องการแสดงความเห็นของนายทรัมป์ที่มีต่อซีเอ็นเอ็นที่แสดงออกผ่านทวีตของเขาตลอดเวลา โดยซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นายทรัมป์ทวีตเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในระหว่างที่เขาเยือนฟิลิปปินส์ เขาต้องดูรายการของซีเอ็นเอ็น และยังพบว่าทีวีช่องนี้ยังนำเสนอข่าวเท็จ
ด้านผู้บริหารเอทีแอนด์ทีคือสตีเฟนสันกล่าวว่าหากมีการดำเนินคดีจริง บริษัทจะขอข้อมูลการติดต่อสื่อสารระหว่างทำเนียบขาวกับกระทรวงยุติธรรม ซีเอ็นเอ็นระบุด้วยว่า สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนสงสัยว่าการตัดสินใจของกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะของนายเดลราฮิม ได้รับอิทธิพลจากท่าทีของนายทรัมป์ ซึ่งเดลราฮิมปฏิเสธ
ส่วนจีน คิมเมลมานน์ แห่งกลุ่ม 'พับลิกโนว์เลดจ์' บอกว่า การซื้อกิจการหนนี้ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคและขัดหลักกฎหมายต่อต้านการผูกขาดอย่างชัดเจน และดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ขณะที่เครก อารอน จากองค์กรผู้บริโภค 'ฟรีเพรส' ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการซื้อขายกิจการหนนี้ เพราะเชื่อว่าจะกระทบผลประโยชน์ของผู้บริโภคข่าวสาร แต่ขณะเดียวกันเขาก็เห็นว่า หากมีตัวอย่างที่แสดงว่าเบื้องลึกของการดำเนินการของรัฐบาลนั้นมาจากความไม่ชอบซีเอ็นเอ็นของนายทรัมป์ เรื่องนี้จะกลายเป็นหายนะไปทันทีสำหรับรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'Fake News' ถูกบรรจุเป็น 'คำ' แห่งปี 2017
ทรัมป์ขู่ยึดใบอนุญาตสื่อ NBC News