ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรวิทยาศาสตร์ของจีนประกาศความเร็จในการโคลนนิ่งลิงคู่แรกสำเร็จด้วยวิธีการเดียวกับแกะดอลลี่ ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างกังวลว่าการโคลนนิ่งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาโคลนนิ่งมนุษย์ในอนาคต

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันพฤหัส 25 มกราคม 2561 จีนประกาศความสำเร็จในการโคลนนิ่งลิงคู่แรกจากการใช้เซลล์ร่างกายรูปแบบเดียวกับการโคลนนิ่งแกะ 'ดอลลี่' โดยใช้เซลล์ของตัวอ่อนในครรภ์มาผสมกับไข่ที่ยังไม่สมบูรณ์ และเมื่อไข่พัฒนาเป็นตัวอ่อนก็นำไปฝังไว้ที่มดลูกของลิงเพศเมีย ที่ผ่านมาวิธีการการโคลนนิ่งด้วยวิธีนี้ไม่ประสบผลสำเร็จกับการโคลนนิ่งลิงที่มีลักษณะยีนใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุด

อย่างไรก็ตาม จงจง และฮว่าฮว่า ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคู่แรกที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ที่กำเนิดจากการโคลนนิ่งภายใต้การวิจัยขององค์กรวิทยาศาสตร์ของจีน (CAS) โดย มูหมิง พู่ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา องค์การวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า จุดประสงค์ของการโคลนนิ่งนี้คือการวิจัยทางการแพทย์ เพราะปัจจุบันโรคที่ป่วยในร่างกายมนุษย์มีต้นกำเนิดมาจากยีนพันธุกรรมเป็นหลัก ถ้าเราสามารถโคลนนิ่งสัตว์จากยีนพันธุกรรมขึ้นมาได้ และดัดแปลงยีนบางตัวให้เกี่ยวข้องกับโรคของมนุษย์ เราก็จะสามารถโคลนนิ่งสัตว์จำนวนมากเพื่อศึกษาทดลองทางการแพทย์ และพัฒนายาบางชนิดในการรักษาโรค

AP18025153076244.jpg
จง จง และ ฮว่า ฮว่า ลิงคู่แรกที่เกิดจากการโคลนนิ่งในจีน ทั้งคู่เกิดเมื่อเดือนธันวาคมปี 2560 ในห้องทดลองของสถาบันประสาทวิทยาในเซี่ยงไฮ้

การโคลนนิ่งสัตว์ยังมีข้อถกเถียงทางจริยธรรมในวงกว้าง ในแต่ละปีบริษัทผลิตและวิจัยยาในสหรัฐฯ ต่างนำเข้าลิงกว่า 30,000-40,000 ตัวเพื่อใช้ในการทดลองยา พู่กล่าวว่า ในทางจริยธรรม การโคลนนิ่งลิงจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ลดการใช้ลิงตามธรรมชาติในการทดลองทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม ดาร์เรน กริฟฟิน ศาตราจารย์ด้านพันธุกรรม มหาวิทยาเคนท์ของอังกฤษ กล่าวว่า ควรจะต้องมีการทบทวนจริยธรรมในการทดลองกันอย่างรอบคอบ เพราะการโคลนนิ่งด้วยวิธีนี้ใกล้เคียงกับการโคลนนิ่งมนุษย์ 

ปัจจุบัน การโคลนนิ่งมนุษย์ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ และในแถลงการณ์ของสหประชาชาติที่ออกมาเมื่อปี 2548 ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศห้ามโคลนนิ่งมนุษย์ เพราะขัดต่อหลักการด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการคุ้มครองชีวิตมนุษย์

ขณะที่ฟิลิป บอล นักวิเคราะห์จากเดอะการ์เดียนมองว่า ความสำเร็จในการโคลนนิ่งลิงของจีนในครั้งนี้จะนำไปสู่การรื้อฟื้นแนวคิดเรื่องการโคลนนิ่งมนุษย์ในอนาคต และอาจนำไปสู่การพัฒนา รวมไปถึงการค้นหาเทคนิคการโคลนนิ่งที่มาจากเซลล์ผู้ใหญ่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลว่าการโคลนนิ่งในรูปแบบนี้อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดจากการกำเนิดได้ และเมื่อเกิดมนุษย์ทดลองที่ผิดพลาดแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงจะไม่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีหรือทำลายชีวิตมนุษย์