สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะสื่อมวลชน เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 23 ก.พ. ซึ่งในปีนี้พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 61 พรรษา โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ทรงกล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ทรงยินดีอย่างยิ่งที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มการติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บุคลากรการแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้าของการรับมือ เริ่มได้รับวัคซีนตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว
"โชคดีที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ดูเหมือนจะลดลงทั่วประเทศ การฉีดวัคซีนเริ่มขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าหวังว่าจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า ในขณะที่เราทุกคนพยายามเอาชนะวิกฤตนี้ได้ด้วยการแบ่งปันน้ำใจ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน"
ขณะเดียวกัน สมเด็จพระจักรพรรดิยังทรงแสดงความกังวลต่อประชาชน 'กลุ่มเปราะบาง' ซึ่งได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิต จากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นเนื่องจากผลกระทบงโควิด-19 โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า
"บางทีอาจเพราะความรู้สึกบีบคั้นทางจิตใจ ทำให้พรากชีวิตผู้คนจำนวนมากขึ้น .. ข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บปวดมาก ขณะที่สังคมเราพยายามหาทางป้องกันปัญหานี้" สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ กล่าวพร้อมทรงแสดงความเสียใจต่อชาวญี่ปุ่นที่สูญเสียชีวิตในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ประมุขแห่งญี่ปุ่นยังทรง "ประทับใจในความอดทนของผู้คน" ที่ต้องอยู่ห่างไกลกันในช่วงการระบาด แต่ทดแทนด้วยแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ครอบครัวสามารถติดต่อถึงกันได้
สำหรับญี่ปุ่นพบตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยปีที่ผ่านมาตัวเลขคนฆ่าตัวตายอยู่ทั้งหมดอยู่ที่ 20,919 ราย จำนวนนี้ส่วนมากเป็นประชากรเพศหญิง ที่ 14.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 6,976 คน สวนทางตัวเลขการฆ่าตัวตายของผู้ชายลดลงราว 1% อยู่ที่จากปีที่แล้ว 13,943 ราย
ส่งผลให้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลได้แต่งตั้งให้นาย เทตสึชิ ซากาโมโตะ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำ "กระทรวงความเหงา" หน่วยงานพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลปัญหาความเศร้าที่เกิดจากความเดียวดาย หลังพบว่าตัวเลขของชาวญี่ปุ่นที่ฆ่าตัวตายจากความเหงาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาหลายชิ้นยังพบว่า ความเหงาไม่เป็นเพียงปัจจัยโดยตรงที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรังหลายชนิด เนื่องจากความโดดเดี่ยวทำให้ต้องแยกตัวจากสังคมจนเกิดพฤติกรรมไม่ใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายน้อย โภชนาการย่ำแย่ ส่งผลต่อระดับความเครียดจนนำไปสู่ความเสี่ยงเป็นโรค
ที่มา: Straitstimes