พล.ต.ต. ปวีณ เล่าให้ The Sydney Morning Herald ฟังถึงการเข้ามามีบทบาทในการเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา เมื่อปี 2558 ว่า เขาสามารถจับคนร้ายในขบวนการได้นับร้อยราย รวมถึงรวบรวมหลักฐาน ที่จะสามารถสาวไส้ไปได้จนถึงต้นข่ายของขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา แต่ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 5 เดือนของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ตอบางอย่างที่ พล.ต.ต. ปวีณ ไปเดินสะดุดเข้า ทำให้เขาถูกกองทัพ ตำรวจ และผู้มีอำนาจกดดัน ตามมาด้วยการย้ายเขาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
เป็นเวลาแล้วกว่าเกือบ 7 ปี ที่ พล.ต.ต. ปวีณ บินลี้ภัยหนีออกนอกประเทศมายังออสเตรเลีย และตลอดชีวิตหลังการได้รับสถานะผู้ลี้ภัยกว่า 6 ปีที่ผ่านมาในประเทศแห่งใหม่นี้ พล.ต.ต. ปวีณ ก้าวข้ามความกลัวในด้านความปลอดภัยบางประการ และออกมาพูดถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในคดีการค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งนำมาสู่การอภิปรายถกเถียงกันในรัฐสภาอย่างดุเดือด และการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในรัฐบาลแปลงร่างของระบอบเผด็จการทหาร ที่กำลังจะเผชิญหน้ากับการเลือกตั้งในช่วงปีหน้า
ผู้มีอำนาจทุกคนที่ถูก พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับคดีการค้ามนุษยชาวโรฮิงญา ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวทั้งหมด ถึงแม้ว่า พล.ต.ต. ปวีณ จะรู้สึกผิดหวัง แต่เขายังคงแน่วแน่และตั้งใจที่จะเปิดเผยความจริงต่อไป
The Sydney Morning Herald ถาม พล.ต.ต. ปวีณ ว่า การเป็นตำรวจที่ซื่อสัตย์ในประเทศไทยนั้น “อยู่ยากเพียงใด” พล.ต.ต. ปวีณ ตอบกลับพร้อมกับอาการที่ดูหลุดลอยว่า “ผมสามารถดูแลคนอื่นได้ แต่ผมกลับไม่สามารถดูแลครอบครัวของตัวเองได้” พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวพร้อมเช็ดน้ำตาที่ไหลออกมา “ผมรู้สึกว่าครอบครัวของผมเสียสละมามาก พวกเขาให้ผมเดินตามความฝัน ผมอยากจะช่วยเหลือผู้คน ผมอยากเป็นตำรวจที่ดี แต่มันยากมาก มันยากเย็นมาก ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมผมถึงทำในสิ่งที่ผมทำ ยิ่งผมพยายามมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งสร้างศัตรูมากขึ้นเท่านั้น”
ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเฟื่องฟูขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2547 ถึง 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังช่วงการก่อจลาจลของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมาเมื่อปี 2555 ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาต้องอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศนับแสนคน จำนวนไม่น้อยในนั้นถูกหลอกมาขายเป็นแรงงานทาสในประเทศไทย แทนที่พวกเขาจะลี้ภัยเข้ามาในไทยเพียงชั่วคราว เพื่อมุ่งหน้าตรงต่อไปยังมาเลเซีย อย่างไรก็ดี พวกเขาหลายคนไม่สามารถเดินทางอพยพต่อเพื่อออกนอกประเทศไทยไปแบบมีลมหายใจได้อีก
ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญามีผู้มีอำนาจในไทยเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก บางคนในนั้นเกษียณอายุไปแล้วอย่างราบรื่น บางคนยังคงดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ดี นายพลบางคนที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลในขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา กลับเสียชีวิตอย่างปริศนาในเรือนจำ สร้างความดำมืดให้กับคดีดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแต่ความดำมืดของข้อมูลตัวเลขการค้ามนุษย์ แต่คือความดำมืดของเบื้องหลังผู้มีอำนาจในไทยที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง นอกจาก พล.ต.ต. ปวีณ ที่ปัจจุบันตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย
จากรายงานในปี 2557 คาดว่า มีตัวเลขเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในไทยอย่างน้อย 80,000 ราย และ Human Rights Watch เชื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในขบวนการเหล่านี้เป็นตัวเลข “สูญหายไปจากประวัติศาสตร์”
พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวกับ The Sydney Morning Herald ว่า “ผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนตั้งแต่แรก ตอนที่พวกเขาขึ้นไปบนภูเขา แต่จากสิ่งที่ผมได้ยินจากคนที่ขึ้นไป ค่ายโรฮิงญาที่พวกเขาถูกกักตัวเป็นเหมือนเล้าหมู เหมือนที่เอาไว้ขังสัตว์” พล.ต.ต. ปวีน กล่าว “มันมีที่ว่างให้คนอยู่ได้หลายร้อยคน และมันมีหลุมฝังศพอีกมากที่นั่น พวกเขาขุดศพขึ้นมาหลายสิบศพ แต่ผมได้ยินมาว่ามีเรื่องในลักษณะเดียวกันอีกด้านที่มาเลเซีย มันเลยน่าจะมีอีกเยอะ”
พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวว่า เขาพยายามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่อาวุโสว่า การขุดศพขึ้นมาดังกล่าวเป็นไปด้วยความไม่ถูกต้อง “ผมไม่เห็นว่าอะไรคือจุดประสงค์ในการขุดพวกเขาขึ้นมา” พล.ต.ต. ปวีณ ระบุ “เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาคือใคร แค่นี้มันก็เพียงพอแล้วสำหรับสำนวนคดี” โดย พล.ต.ต. ปวีณ เปิดเผยกับ The Sydney Morning Herald ว่า เมื่อเขาขอหลักฐานในช่วงต้นของการเข้ามาสืบสวนสอบสวน มันใช้เวลากว่าหลายสัปดาห์ ก่อนที่เขาจะพบว่ามีคำสั่งห้ามการส่งหลักฐานมาให้แก่เขา เพื่อสะกัดเส้นทางเชื่อมโยงผู้มีอำนาจไทยเข้ากับขบนการค้ามนุษย์โรฮิงญา
พล.ต.ต. ปวีณ เล่าถึงเหตุการณ์แปลกๆ จากอิทธิพลของผู้มีอำนาจในไทย เมื่อเขาเข้ามาทำคดีดังกล่าวอย่างที่เคยเปิดเผยให้กับชาวไทยได้ฟัง รวมถึงการที่ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปอภิปรายในรัฐสภาไทย พล.ต.ต. ปวีณ ยังเล่าถึงสายโทรศัพท์อ้างชื่อผู้มีอำนาจที่ต่อมาถึงตน โดยปลายสายขอให้เขาให้การประกันตัวแก่นายพลที่ปัจจุบันเสียชีวิตไปพร้อมกับปริศนาอันดำมืด
“มันยังขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของทีมสืบสวนด้วย หากเรายอมให้ผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งได้รับการประกันตัว แต่คนอื่นกลับไม่ได้ มันจะบ่งชี้อะไรเกี่ยวกับพวกเราบ้าง” พล.ต.ต. ปวีณ กล่าว ก่อนที่ พล.ต.ต. ปวีณ จะย้ำว่า การให้ประกันตัวนายพลผู้ล่วงลับเป็นอำนาจของศาล และตนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกรณีดังกล่าว แม้ว่าจะมีเสียงกดดันจากผู้มีอำนาจก็ตาม
ความพยายามของ พล.ต.ต. ปวีณ ส่งผลให้มีการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องสงสัย 153 ราย โดย 2 รายในนั้นเสียชีวตก่อน และ 91 รายในนั้นถูกจับกุมตัว รวมถึงนายพลที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายในเรือนจำ หลังจากที่เขาถูกตัดสินโทษจำคุก 82 ปี อย่างไรก็ดี ความพยายามของ พล.ต.ต. ปวีณ ถูกสะกัดเอาไว้ ด้วยการสั่งปิดคดีช่วงเดือน พ.ย. 2558
พล.ต.ต. ปวีณ บอกกับ The Sydney Morning Herald ว่า เขาถูกสั่งย้ายไปประจำอยู่ที่ภาคใต้ พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวว่าคำสั่งย้ายดังกล่าวเป็นการส่งเขาไปตาย ก่อนที่อดีตผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติบังคับให้ตนลาออกจากตำแหน่ง และ “ใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ” ยังมีความพยายามในการโอนย้าย พล.ต.ต. ปวีณ ไปทำงานอยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ดี พล.ต.ต. ปวีณ ตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศไทย เมื่อเขาเริ่มรู้ตัวแล้วว่า ภัยคุกคามต่อชีวิตของเขากำลังเข้าใกล้ตัวมามากขึ้นเรื่อยๆ
พล.ต.ต. ปวีณ หนีออกนอกประเทศไทย บินไปยังสิงคโปร์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเครื่องต่อมาลงที่เมลเบิร์น ตลอดการหนีตายจากการที่ตนเองไม่ได้ทำอะไรผิดนั้น ในหัวของ พล.ต.ต. ปวีณ เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ปัจจุบัน พล.ต.ต. ปวีณ ยังคงเดินหน้าการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในออสเตรเลีย สถานที่ที่ไม่มีใครรู้จักเขา หลังจากสภาวะบังคับที่ทำให้เขาต้องทิ้งครอบครัวและคนรู้จักจากประเทศไทย เพื่อหนีภยันตรายที่เรียกว่าอำนาจลึกลับจากการเป็นตำรวจน้ำดี
ในช่วงแรกที่ พล.ต.ต. ปวีณ ลี้ภัยมายังออสเตรเลีย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 อาศัยการทำงานเป็นผู้ช่วยทำความสะอาดในโรงพยาบาล ทำงานในสถานพยาบาล โรงงาน และอาชีพอื่นๆ ที่แสนธรรมดา แต่เขากลับรู้สึกขอบคุณรัฐบาลออสเตรเลีย จากการมอบสานะผู้ลี้ภัยให้แก่เขา ตลอดจนบรรดาผู้ที่ช่วยสอนภาษาอังกฤษ และการปรับตัวเพื่อการใช้ชีวิตในออสเตรเลีย
พล.ต.ต. ปวีณ ยังคงต่อสายพูดกับพ่อของเขาเป็นประจำ และความปรารถนาสูงสุดของ พล.ต.ต. ปวีณ คือการได้กลับไปพบกับลูกสาวของเขาอีกครั้ง แต่เมื่อสิ้นแสงตะวันของทุกๆ วัน จิตใจของ พล.ต.ต. ปวีณ ยังคงหันไปนึกถึงคดีสุดท้าย และบรรดาผู้พยายามจะขัดขวางมัน ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังคงเสวยสุขกันอยู่ในประเทศไทย ในขณะที่ พล.ต.ต. ปวีณ ต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยจากการเป็นตำรวจผู้ซื่อสัตย์
“ผมรู้สึกเหมือนผมกำลังจมน้ำ และมันก็มีขอนไม้ลอยมาทางผม” พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวถึงช่วงที่เขาเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจในไทย “แต่มันคือจระเข้”
อ่านสัมภาษณ์ พล.ต.ต. ปวีณ ฉบับเต็บ บนเว็บไซต์ของ The Sydney Morning Herald ได้ทาง: https://www.smh.com.au/world/asia/the-more-i-try-the-more-enemies-i-make-an-exiled-investigator-speaks-out-20220728-p5b5ej.html?fbclid=IwAR2li6vK29sSlNf0z4qIUoB9dbbJ5y2FtNZwlCzZFC3XAkf4E3vGZK0HTjU
อ่านบทแปลสัมภาษณ์ พล.ต.ต. ปวีณ ถึงคดีการค้ามนุษย์โรฮิงญา กับทางอัลจาซีราอิงลิช ได้ทาง: https://voicetv.co.th/read/aTCFiM00M