ไม่พบผลการค้นหา
‘นคร มาฉิม’ ลาจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไปเมื่อปี 2556 ด้วยอารมณ์อย่างคนอกหัก หลังจาก ปชป. ประกาศบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง เพื่อบีบให้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินไปถึงทางตัน ซึ่งนั่นเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่เขาบอกว่า ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก

หากใครยังจำกันได้ ตลอดทั้งปีนั้น ปชป.หารือกันคร่ำเครียดเรื่องการปฏิรูปพรรคให้ทันคู่แข่ง หลังจากทำวิจัยเป็นการภายใน แล้วมีการเปรียบเทียบว่า ปชป.ไม่ต่างกับ “รถอีแต๋น” จะไปแข่งกับพรรคไทยรักไทย ที่แปลงร่างมาเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในภายหลัง ที่เหมือนกับ “รถเฟอร์รารี” ไม่ได้

แม้ผู้จุดประเด็นนี้ จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ จะเป็นอลงกรณ์ พลบุตร ผ่านการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว หลังงานวันเกิดพรรคของปีนั้น (5 เม.ย.) ได้เพียง 1 สัปดาห์ ว่าหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งติดต่อกัน 21 ปี ปชป.จำเป็นต้องปฏิรูปพรรคอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านโครงสร้าง การบริหารจัดการ และวัฒนธรรมพรรค

แต่คนที่ทำงานเพื่อผลักดันการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง กลับเป็นคณะทำงานที่นำโดยอัศวิน วิภูศิริ และมีหนึ่งในทีมงานชื่อ นคร มาฉิม

สำหรับคนทั่วๆ ไป ชื่อ นคร มาฉิม อาจไม่ใช่บิ๊กเนมสักเท่าไร แม้จะเป็น ส.ส.พิษณุโลกมาแล้วถึง 4 สมัย (ปี 2544, 2548, 2550, 2554) แต่ถ้าไปเทียบกับ ส.ส.พิษณุโลกคนอื่นๆ ของ ปชป. อย่าง “จุติ ไกรฤกษ์” หรือ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ก็อาจพอพูดได้ว่า มีชื่อไม่ค่อยกระดิกหูนัก

แต่ในปีดังกล่าว ชื่อของนครกลับปรากฏบนหน้าสื่อระดับชาติอย่างถี่ยิบ เพราะเป็นหนึ่งในคนที่ออกมาพูดถึงข้อเสนอให้ปฏิรูป ปชป. อย่างเอาจริงเอาจังที่สุด

ในโน้ตบุ๊กของผมยังมี Power Point จำนวน 18 หน้า ที่สรุปข้อเสนอปฏิรูป ปชป. ที่คณะทำงานดังกล่าวจัดทำขึ้น โดยเป้าหมายเพื่อให้ ปชป. มีความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง และปรับปรุงการบริหารจัดการให้กระชับ รวดเร็ว ทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ข้อเสนอหลักๆ ของคณะทำงานชุดนี้ คือเน้นการ “กระจายอำนาจ” ดึงการมีส่วนร่วมจากคนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจภายใน ปชป. ด้วยการลดจำนวน “คณะกรรมการบริหารพรรค” ลง และให้ตั้ง “คณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่” เพื่อให้การปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคมีเอกภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือรอส่วนกลางสั่งการไปอย่างเดียว

แต่ผู้บริหาร ปชป. ในขณะนั้นกลับไม่ตอบสนอง นครจึงต้องออกมาโวยวายด้วยความผิดหวัง ว่าที่บางคนในพรรคไม่ยอมปฏิรูปเพราะกลัว “เสียอำนาจ-เสียตำแหน่ง”

แม้ต่อมา ปลายปีดังกล่าว ผู้บริหาร ปชป. จะยอมทำตามข้อเสนอของคณะทำงานชุดนี้บางส่วน เช่น เพิ่มตัวแทนจากภูมิภาคและสาขาพรรคให้เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรคมากขึ้น ตั้ง “คณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่” และ “คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่ถือเป็นกลไกใหม่ของ ปชป.

แต่นั่นก็สายไปเสียแล้ว เมื่อสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นกำลังคุกรุ่น จากการที่สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ ปชป. ไปจัดตั้งม็อบ กปปส. ได้จุดติดจนเป็นกระแสกดดันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยอมถอยเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และประกาศยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินอนาคตของประเทศ

แต่ผู้บริหาร ปชป. กลับตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้ง !

นครจึงต้องยื่นใบลาออก และไปลงสมัคร ส.ส. ในนามของพรรคการเมืองอื่น (พรรคชาติไทยพัฒนา) แทน

หากอ่านถ้อยคำที่นครโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว จนกลายเป็นเรื่องเป็นราว ในวันเกิดของทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาดูดีๆ แม้หลายคนจะบอกว่า มันคือคำ “สารภาพบาป” ที่แนวร่วมฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งนายทุน ขุนศึก และข้าราชการ ร่วมกับโค่นพี่น้องชินวัตรลงจากอำนาจ

แต่ “ระหว่างบรรทัด” ก็เหมือนนครจะตัดพ้อถึงการที่ฝ่ายตรงข้ามของทักษิณ ไม่สามารถเอาชนะได้สักที ทั้งที่ใช้นักการเมืองแถวสอง-แถวสาม หรือใช้คนซึ่งไม่ประสีประสาทางการเมืองเลย ก็ยังแพ้อีก ซึ่งเขาสรุปว่า เกิดจาก “ฝ่ายเรา” ไม่ได้ทำเพื่อประชาชาติและประชาธิปไตยโดยแท้

ในสายตาของสาธารณชน บุคลิกของ นคร มาฉิม อาจจะเหมือนกับที่ นพ.วรงค์กล่าวไว้ คือเป็นคนมีเพื่อนไม่มากนัก ไม่มีบทบาทใดๆ ภายในพรรค พูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่นักการเมือง “เบอร์ใหญ่”

แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ถึงนครจะไม่ใช่นักการเมืองเบอร์ใหญ่ แต่เหตุใดคนจำนวนไม่น้อยถึงสนใจสิ่งที่เขาเขียน

และสมาชิก ปชป.นับสิบ ถึงออกมามีรีแอ็กชั่นต่อถ้อยคำดังกล่าว ถึงขั้นจะดำเนินคดีทางกฎหมาย จนถูกเรียกว่าเป็น “นคร มาฉิม effect”

ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะสิ่งที่พฤติกรรมต่างๆ ที่นครเขียนถึง เป็นสิ่งที่อยู่ในใจผู้คนทั่วไปอยู่แล้ว และการที่มีอดีต ส.ส. ปชป.มาพูดถึงข้อมูลดังกล่าวอีกที ก็ยิ่งช่วยตอกย้ำความเชื่อดังกล่าว (ไม่ว่าท้ายที่สุดจะจริงหรือไม่ก็ตาม)

การที่นครจะเขียนทอดสะพานไว้ว่า “ขอร่วมอุดมการณ์” กับทักษิณ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับนักการเมืองอาชีพที่จำเป็นต้องหาพรรคการเมืองสังกัดก่อนลงสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง

ถามว่า สิ่งที่นครเขียนเป็นการเผาบ้านเก่าตัวเองไหม? โดยพฤติกรรมหลายๆ คนอาจจะบอกว่าใช่ แต่บ้านหลังนั้นจะไม่ไหม้ไฟ หรือไหม้ไม่มากนัก หากไม่มีเชื้อเพลิงเดิมอยู่แล้ว

ก็ขนาดตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ยังแสดงออกถึงความเชื่อมั่นเลยว่า ที่สุดแล้ว ปชป.จะเปลี่ยนมาสนับสนุนตัวเขาหลังการเลือกตั้ง ดังที่เคยพูดว่า “คอยดูแล้วกันว่าหลังเลือกตั้งเขาจะแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรหรือไม่” หลังจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป.ออกมาบอกว่า ใครที่สนับสนุน คสช. ให้ไปอยู่พรรคอื่น

ที่สุดแล้ว พฤติกรรมของ ปชป.หลังจากนี้ จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า สิ่งที่นครโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กเป็นเรื่องจริงหรือไม่

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog