จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุถึงการเสียชีวิตของน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารควรจะพิจารณาในศาลทหารหรือไม่ เพราะขั้นตอนตั้งแต่เมื่อเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนชันสูตรศพ ทำสำนวนคดีอาญาจนถึงมีคำพิพากษานั้นเป็นอำนาจของหน่วยงานทหารทั้งหมดซึ่งอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมและเคลือบแคลงสงสัย
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรมในระบบศาลไม่ว่าจะเป็น ศาลยุติธรรม ,ศาลรัฐธรรมนูญ ,ศาลปกครอง และศาลทหาร นั้น ในคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมก็มีทหารเป็นคณะกรรมการ คือ พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ซึ่ง พล.อ.กฤษณะ ก็พูดชัดเจน ว่า ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้จะรวมถึงศาลทหารด้วย
โดยในศาลทหารนั้นมีอยู่ 2 ประเด็นที่ชัดเจน คือเรื่องระยะเวลา ซึ่งต่อไปจะต้องมีการกำหนดระยะเวลา ว่าการพิจารณาคดีจะต้องเสร็จในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งจะกำหนดเป็นมาตราฐานในทุกศาล
ส่วนประเด็นที่สองคือ อำนาจของศาลทหาร โดยคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ รวมทั้งกรมพระธรรมนูญศาลทหาร ไปดูว่าในต่างประเทศเรื่องอำนาจศาลทหารควรจะมีขอบเขตอย่างไรบ้าง
ประเด็นเรื่องอำนาจพิจารณาคดีศาลทหาร ก็เป็นข้อเรียกร้องจากองค์กรระหว่างประเทศกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าคดีอย่างไรบ้าง ที่ควรอยู่ในอำนาจศาลทหาร และคดีที่เกี่ยวพันกับพลเรือน ต้องไปศาลทหารมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมานั้น ทางคณะกรรมการฯได้มีหยิบยกประเด็นและเสนอเรื่องอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร ที่จะกำหนดให้คดีที่ทหารกระทำผิดคดีอาญาทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือวินัยในการทหารนั้น จะต้องขึ้นศาลพลเรือน นั้นหมายถึง ต้องมาขึ้นศาลยุติธรรม