ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊กแฟนเพจ ANTI SOTUS ผุด ม.ดังปิดข่าวนักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตาย เผยเกิดขึ้นปีละหลายรายแต่ถูกสั่งปิดปากเงียบ ขณะรุ่นพี่จวกระบบการเรียนทำให้เด็กสูญเสียความเป็นคน ด้านเพจจริยธรรมนิสิตนักศึกษาแพทย์ แนะอาจารย์​แพทย์เปิดใจกว้างช่วยลดต้นเหตุปัญหาเครียด-ซึมเศร้า​ในหมู่นักเรียน​แพทย์​

เฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อว่า ANTI SOTUS ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับนักศึกษาแพทย์ว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีนักศึกษาแพทย์จากสถาบันแห่งหนึ่งฆ่าตัวตาย แต่ถูกสถาบันสั่งให้ปิดข่าว แม้กระทั่งใครตั้งสเตตัสถึงเพื่อนที่เสียชีวิตก็จะถูกเรียกไปตักเตือนฐานทำให้เสียชื่อเสียง 

เพจดังกล่าวระบุด้วยว่า เพียงปีเดียว มีนักศึกษาแพทย์จากหลายสถาบันฆ่าตัวตายรวมกันไปหลายรายแล้ว และมีเป็นประจำทุกปี พร้อมระบุด้วยว่ามีสถิตินักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตายสูงกว่านักศึกษาทั่วไป 3 เท่า

พร้อมกันนี้ แอดมินเพจ ยังสะท้อนความเห็นด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นพูดไม่ได้แล้วว่าเป็นเรื่องความอ่อนแอส่วนบุคคล แต่เข้าขั้นปัญหาเชิงระบบแล้ว ขณะที่ทุกครั้งที่เกิดจะไม่ค่อยมีข่าวตามหน้าสื่อเพราะสถาบันสั่งให้ปิดข่าว

ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์เล่าเรื่องราวชีวิตจากการเป็นนักศึกษาแพทย์ว่า นับตั้งเเต่หกปีที่เข้ามาเรียน สัดส่วนความสุขต่อเวลาเรียนทั้งหมดนั้นน้อยมาก สำหรับคนมีสุขภาพกาย สุขภาพใจดี บางทีก็อาจผ่านมันไปได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่ได้ชอบเป็นทุนเดิม หรือมีโรคประจำตัวบางอย่างเช่น โรคซึมเศร้า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะลากร่างกายตัวเองต่อไปให้จบวันๆนึง การเรียนหมอคือการเรียนที่เราต้องเเลกอะไรหลายๆอย่างออกไป ซึ่งสิ่งหลักๆคือ Basic needs ทั้งหลาย ต้องเเลกการกิน การนอน เวลา เเละชีวิตส่วนตัว ระบบการเรียนเเพทย์จะค่อยๆปรับให้น้องสูญเสียความเป็นคนทีละเล็กทีละน้อย

พร้อมกันนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวยังให้คำแนะนำนักศึกษาแพทย์รุ่นน้องถึงวิธีการรับมือกับแรงกดดันจากการเรียนว่า ถ้ารู้สึกว่ามันเกินทานทน สภาพจิตใจน้องหดหู่ รู้สึกเครียด รู้สึกเศร้าอยากให้น้องๆเข้าหาจิตเเพทย์ หาคนในครอบครัว หรือเพื่อนที่ไว้ใจ

ขณะที่เพจ Drama-addict โพสต์ข้อความถึงวัฒนธรรมในการเรียนแพทย์ว่า แม้จะมีการตั้งคำถามต่างๆจากสังคมออนไลน์ แต่ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่เพจหมอหลายๆเพจ โพสต์ถึงวัฒนธรรมในการเรียนหมอไล่เลี่ยพร้อมกัน เหมือนต้องการสื่อสารเรื่องนี้แบบอ้อมๆ

ด้าน เฟซบุ๊กแฟนเพจจริยธรรมนิสิตนักศึกษาแพทย์ แสดงความเห็นว่า หาก​จะแก้ไขปัญหา​ความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า​ในหมู่นักเรียน​แพทย์​ อาจารย์​แพทย์​คงเป็น​ตัวหลักที่ต้อง​เปิด​ใจกว้าง​ และ​ร่วม​ด้วย​ช่วยกัน​ปรับปรุง​เพื่อ​ลดต้นเหตุของปัญหา​