ครบรอบ 1 เดือน สำหรับเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของ สปป.ลาว มวลน้ำมหาศาลกว่า 5 ล้านลูกบาศก์ลิตรจากโครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและที่ดินการเกษตรของประชาชนใน 8 บ้าน สร้างความเสียหายในมูลค่าที่ไม่อาจประเมินได้
โครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน - เซน้ำน้อย ดำเนินการโดยบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย (PNPC) ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างลาว ไทย และเกาหลีใต้ และมีบริษัทที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ คือ เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรักชั่น (SK E&C) บริษัทก่อสร้างรายใหญ่อันดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ ผู้ถือหุ้นร้อยละ 26 ของ PNPC และรัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้ คือ บริษัท โคเรีย เวสเทิร์น เพาเวอร์ (KOWEPO) มีหุ้นใน PNPC อีกร้อยละ 25 ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 ก.ค. รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศว่าจะต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยในลาวอย่างเร่งด่วน ในฐานะที่กลุ่มทุนของภาครัฐและเอกชนจากเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญในโครงการนี้
ดร. อิอัน แบรด์ ผู้อำนวยการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน กล่าวว่า "กรณีเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตกเกิดจากการจัดการน้ำและโครงสร้างของเขื่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และนำมาสู่ภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ได้มีสาเหตุจากฝนที่ตกหนักดังเช่นที่รัฐบาลลาวพยายามกล่าวอ้าง"
ขณะที่ นายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ยอมรับในที่ประชุมสภาแห่งชาติว่า "เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากเขื่อนแตก ไม่ใช่เกิดจากภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่เสียหายอย่างเหมาะสมที่สุด"
คราบน้ำตาและบาดแผลจาก‘สึนามิ’ ในลาว
นาง คำแพร อายุ 50 ปี ประชาชนบ้านหินลาด หนึ่งในบ้านที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดกล่าวกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 23 ก.ค.นั้นผู้ใหญ่บ้านได้มาแจ้งว่า ให้เฝ้าระวังน้ำจากเขื่อนที่จะล้นออกมา แต่ไม่คาดคิดว่าน้ำที่ไหลออกมานั้นจะรุนแรงถึงเพียงนี้ นางคำแพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นน้ำที่เป็นมวลคลื่นใหญ่และรุนแรงขนาดนี้มาก่อน น้ำที่ไหลมานั้นนำพาเศษไม้รวมไปถึงเศษซากของบ้านเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เขื่อนก่อนหน้านี้มาด้วย มวลน้ำขนาดใหญ่ที่เร็วและแรงที่พัดมาในช่วงกลางดึกของวันที่ 23 ก.ค.ทำให้ตนไม่สามารถเก็บข้าวของเครื่องใช้ได้ทัน ได้แต่หนีน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดเท่านั้น
ประชาชนในบ้านหินลาด บ้านท่าแสงจัน บ้านหกกอง บ้านใหม่ บ้านปินดง และบ้านสะหมอใต้ ทั้ง 6 บ้านนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและสูญเสียบ้านเรือนและพื้นที่ทำกินทั้งหมดจากมวลคลื่นน้ำขนาดใหญ่ที่พัดมาเป็นระลอกในค่ำคืนของวันที่ 23 - 24 ก.ค. หลายคนเอาชีวิตรอดจากสึนามิในครั้งนี้ได้ ขณะที่อีกหลายคนก็สูญเสียบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะลูก หลานที่อายุยังน้อย
ประชาชนบ้านท่าแสงจัน นางหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า ในคืนนั้นน้ำที่ไหลมาอย่างเร็วและแรง ทำให้เธอต้องสูญเสียลูกชาย 2 คนไป โดยทั้งคู่มีอายุเพียงแค่ 1 และ 3 ขวบเท่านั้น นอกจากนี้เธอยังสูญเสียบิดาจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ภาพเหตุการณ์ในค่ำคืนดังกล่าวยังคงติดตาเธอ และฝังใจ และตัวเธอเองยังคงกลัวไม่กล้ากลับไปดูสภาพบ้านเดิมของตนเอง แม้ว่าวันที่วอยซ์ออนไลน์ลงไปพูดคุยกับเธอนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านล่วงเลยมาถึง 3 อาทิตย์แล้วก็ตาม
เขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตกเกิดจากการจัดการน้ำและโครงสร้างของเขื่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และนำมาสู่ภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์
การรอคอยและชีวิตใหม่
ปัจจุบันผู้ประสบภัยน้ำท่วมกว่า 8 หมู่บ้านจำนวนกว่า 4,000 คน ยังคงอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิงทั้ง 5 แห่งที่ทางการลาวได้จัดไว้ให้ ได้แก่ ศูนย์พักพิงชั่วคราวโรงเรียนประถมบ้านหาดยาว โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์จันทา เทศบาลเมืองสามัคคีไซ ศูนย์พักพิงบ้านตำมะยอด ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านปินดง ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านดงบาก และศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านดอนบก โดยผู้ประสบภัยทั้งหมดจะได้รับเสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมไปถึงเต็นท์และเครื่องนอนบางส่วนจากทางการลาวและจากองค์กรต่างๆที่เข้ามาช่วยเหลือให้อาศัยอยู่เป็นการชั่วคราวระหว่างรอการโยกย้ายไปยังที่อยู่อาศัยชั่วคราว
ปัจจุบันทางการลาวและบริษัท SK ของเกาหลีใต้กำลังเร่งสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัยกว่า 4,000 คน โดยภายในต้นเดือนกันยายนนี้จะสามารถโยกย้ายประชาชนจำนวน 140 ครอบครัวประมาณ 800 คนไปยังที่พักอาศัยชั่วคราวแห่งแรกได้ ซึ่งปัจจุบันการกำสร้างได้ดำเนินไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ในบริเวณบ้านมิดสัมพัน ขณะที่การก่อสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวของประชาชนอีกหลายร้อยครอบครัวยังต้องรอต่อไป แต่ทางรัฐบาลล��วระบุว่าจะเร่งให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี
ขณะที่ในแผนการฟื้นฟูระยะยาวของทางรัฐบาลลาวมีกำหนดแผนดำเนินการต่อจากนี้ในอีก 2-3 ปี โดยเฉพาะในการจัดสรรที่อยู่อาศัยถาวรแห่งใหม่ให้กับประชาชนในเขตบ้านตำมะยอด เขตที่สูงบ้านท่าแสงจัน เขตบ้านปินดง และเขตดงบาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการจัดสรรและบุกเบิกพื้นที่ในเขตต่างๆเป็นเวลาอีกกว่า 1-2 ปี เนื่องจากต้องทำการสำรวจระเบิดที่ยังตกจากสงครามเวียดนามและยังคงถูกฝังอยู่ใต้พื้นดินในเมืองสะหนามไซให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ได้พูดคุยกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยหลายคน กล่าวว่า "ตอนนี้ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าทางการลาวจะจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ในเขตบ้านไหน หรือตนเองจะได้ที่ดินทำกินจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากที่อยู่อาศัยเดิมของตนนั้นไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยได้อีกแล้ว"
สำหรับในส่วนของการชดเชยแก่ผู้ประสบภัยและผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ห้องว่าการปกครองแขวงอัตตะปือ กล่าวว่า ทางการลาวจะชดเชยเงินในขั้นแรกให้แก่ผู้ประสบภัยที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว คนละ 1 ล้าน 5 แสน กีบ หรือประมาณ 5,800 บาท และชดเชยเงินให้ผู้ประสบภัยในเบื้องต้นครอบครัวละ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,800 บาท ขณะที่การชดเชยเงินให้แก่ผู้ประสบภัยในระยะยาวยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ความหวังและการค้นหา
ขณะที่การค้นหาผู้เสียชีวิตและผู้สุญหายในเขตภัยพิบัติทั้ง 8 หมู่บ้านนั้นยังคงดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ทีมค้นหาช่วยเหลือจากทั้งไทย สิงคโปร์ เวียดนามและกองทัพประชาชนลาวต่างเผชิญปัญหาในการค้นหาทั้งการคมนาคมขนส่งที่ถูกตัดขาด ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้ง และรวมไปถึงดคลนตมที่ทับถมสูงจนไม่สามารถเก็บกู้ หรือค้นหาผู้สูญหายได้
ปัจจุบันทางการลาวรายงานว่ายังคงมีผู้สูญหายอีกจำนวน 97 คน จาก 131 คน และมีผู้เสียชีวิต 39 คน ขณะที่หน่วยกู้ภัยทั้งลาวและไทยบางส่วนต่างไม่เชื่อว่าจำนวนผู้สูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีแค่ 131 คน
พิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล ทีมกู้ภัยจากไทย กล่าวว่า "หลังจาก 3 วันที่เกิดเหตุการณ์และมีการเข้าช่วยเหลือ พวกเขาไม่เชื่อว่าจะมีความหวังในการพบเจอผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีก ซึ่งจากการประเมินจำนวนผู้อยุ่อาศัยที่อาศัยอยู่บริเวณเขื่อนประมาณ 7,000 คน แต่จำนวนผู้รอดชีวิตที่มีการช่วยเหลือและอยู่ตามศูนย์พักพิงต่างๆนั้นมีเพียง 5,000 คนเท่านั้น"
ทบทวนการเป็นแบตเตอร์รี่แห่งเอเชีย
นอกจากนี้หลายภาคส่วนยังคาดหวังให้่รัฐบาลมีการทบทวนยุทธศาสตร์ ‘แบตเตอร์รี่แห่งเอเชีย’ อีกครั้งจากเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างทั้งในลาวเองและประเทศเพื่อนบ้าน
ดร. แบรด์กล่าวว่า "ประชาชนลาวจำนวนมากต่างโกรธเคืองในเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดียและเรียกร้องให้รัฐบาลลาวทบทวนแผนการสร้างเขื่อนอีกหลายๆแห่งในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างกว้างขวาง ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในลาว และเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมารัฐบาลลาวได้มีมติสั่งทบทวนและชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ที่จะยื่นเสนอต่อทางรัฐบาลลาว"
เหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกเมื่อเดือนที่ผ่านมาไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ลักษณะเกิดขึ้น แต่เมื่อเดือน ก.ย. 2560 เกิดเหตุเขื่อนน้ำเอาในแขวงไซสมบูนแตกเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาคตั้งคำถามว่าการลงทุนด้านพลังงานขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ 'คุ้มค่า' ในระยะยาวหรือไม่
และแม้ว่าหลายภาคส่วนจะกดดันและทักท้วงนโยบาย 'แบตเตอร์รี่แห่งเอเชีย' ของรัฐบาลลาวมาโดยตลอด แต่เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้หลังจากที่ทางรัฐบาลลาวมีประกาศเรื่องชะลอโครงการเขื่อนแห่งใหม่ ในวันถัดมาทางคณะกรรมการธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ได้ออกเอกสารรับรองการเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือของเขื่อนปากลาย ในแขวงไซยะบุรี ซึ่งจะเป็นเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นเขื่อนลำดับที่ 4 ที่จะมีการก่อสร้างในแม่น้ำโขง ต่อจากเขื่อนปากแบงในแขวงเดียวกัน โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นขั้นตอนแรกของโครงการก่อสร้างเขื่อนตามมติข้อตกลงของคณะกรรมาธิการMRC และยังดูเหมือนว่าการก่อสร้างโครงการเขื่อนขนาดใหญ่หลายๆแห่งยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาของลาวภายในปี 2030 ที่คาดว่าจะมีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ครบทั้ง 11 แห่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง