ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครอง ยกคำร้องกรณี 'ศรีสุวรรณ' และผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร 731 คน ยื่นไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองรถตู้อายุเกิน 10 ปี ให้ขยายอายุการวิ่งบริการออกไปอีก 5 ปี ชี้ยังไม่มีเหตุฉุกเฉินเพียงพอ

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เนื่องจาก กรมการขนส่งทางบก มีคำสั่งให้รถตู้ที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปีขึ้นไปต้องหยุดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้(2561) ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จึงขอยืดเวลาใช้รถตู้ออกไปเป็น 15 ปี เพื่อหาเงินมาจัดหารถคันใหม่ ส่วนเหตุผลที่ศาลฯ ไม่รับคำร้องนี้ ระบุว่า ยังไม่มีเหตุฉุกเฉินเพียงพอ

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ และสมาชิกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด รวม 731 คน ฟ้อง อธิบดีกรมขนส่งทางบก, คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง, คณะกรรมการแก้ไขปัญหารถตู้โดยสาร และบริษัท ขนส่ง จำกัด (ขสมก.) ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา (2561) เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวละเลยหน้าที่ที่จะแก้ไขปัญหารถตู้โดยสาร เจตนาที่จะฝ่าฝืนมาตรา 40 มาตรา 43(3)รัฐธรรมนูญ 2560, พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม) 

โดยผู้ร้องขอความเมตตาจากศาล 2 เรื่อง คือ 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี กรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้รถตู้หมวด 1 ซึ่งวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ขยายอายุการวิ่งบริการออกไป 5 ปี เพื่อรอรถไฟฟ้าหลาย ๆ สายของรัฐก่อสร้างเสร็จ และ 2.ในส่วนของรถตู้หมวด 2 ซึ่งวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ขอให้ยกเลิกการบังคับให้รถตู้เปลี่ยนเป็น 'รถมินิบัส' แต่ขอให้เป็นการเปลี่ยนด้วยความสมัครใจแทน เพราะรถดังกล่าวมีราคาสูงกว่ารถตู้มากหลายเท่า ชาวรถตู้ส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากเพียงพอที่จะเปลี่ยนรถได้ 

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับรถที่กรมการขนส่งทางบก ควบคุมดูแลอยู่ในขณะนี้ เช่น รถเมล์ ขสมก. และ บขส. ที่มีสภาพเก่ากว่ารถตู้ไม่รู้กี่เท่า อายุการใช้งานบางคันไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่กลับไม่มีคำสั่งยุติการให้บริการแต่อย่างใด หรือรถตู้ชนิดอื่นๆไม่ว่าจะเป็นรถพยาบาล และรถรับส่งนักเรียน ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ก็ยังสามารถวิ่งให้บริการได้ ดังนั้น รถสาธารณะทุกรูปแบบ ที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี จะต้องทุกยุติให้บริการเหมือนกันหมด ถือเป็นการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม-ไม่เท่าเทียม

ด้าน นางรุ่งเรือง ทองคำ ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา ในฐานะตัวแทนสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด กล่าวภายหลังฟังคำสั่งศาลว่า ขอวิงวอนกรมการขนส่งทางบก ให้การเปลี่ยนประเภทรถ เป็นไปตามความสมัครใจ เพราะผู้ประกอบแต่ละรายมีความพร้อมไม่เท่ากัน เนื่องจากการเปลี่ยนประเภทรถวิ่งให้บริการ จากรถตู้ ไปเป็นรถมินิบัส มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว / รวมทั้ง รถมินิบัสมี 20 ที่นั่ง บางครั้งรอ 2 ชั่วโมงแล้ว ก็ยังไม่เต็ม จึงทำให้รอบวิ่งต่อวันน้อยลง รายได้จึงลดลงด้วย

ทั้งนี้ 'รถมินิบัส' ราคาคันละประมาณ 3,000,000 บาท ต้องผ่อนเดือนละ 45,000 บาท และใช้น้ำมันดีเซล แต่ 'รถตู้ใหม่' ราคาคันละ 1,350,000 บาท ผ่อนเพียงเดือนละ 22,000 บาท และใช้ก๊าซธรรมชาติ(NGV) อย่างไรก็ตาม กฎหมายระบุว่า หากรถตู้โดยสารมีอายุครบ 10 ปี จะต้องเปลี่ยนไปใช้รถตู้คันใหม่ แต่เงื่อนไขภายใต้คำสั่งจัดระเบียบรถตู้โดยสาร บังคับให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ 'รถมินิบัส' เท่านั้น จึงอาจมีผลประโยชน์แอบแฝง เนื่องจากผู้ผลิต-ผู้นำเข้ารถมินิบัส ได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขนี้ไปเต็มๆ

นางรุ่งเรือง ยังเปิดเผยอีกว่า ในปีหน้า(2562) รถตู้โดยสารต่างจังหวัด (หมวด 2) จะหมดอายุ 2,000 คัน และปี 2563 รถจะหมดอายุอีก 2,000 คัน รวม 4,000 คัน ดังนั้น จะมีผู้ประกอบการ และผู้โดยสารรถตู้ ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก หลังจากนี้จะช่องทางอื่นๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิ เช่น ขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมไปถึงการฟ้องร้องเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการปรึกษาหารือกันต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :