ไม่พบผลการค้นหา
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เผยดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปี 2560 ประเทศไทยขยับจากอันดับที่ 82 มาอยู่ที่อันดับ 78 ของโลก

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (15 พ.ย. 2560) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ได้เปิดตัวรายงานประจำปีเรื่องมาตรวัดสังคมสารสนเทศ 2017 (Measuring the Information Society 2017) ซึ่งจะมีการจัดอันดับดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ICT Development Index หรือ IDI) ของปี 2560 จาก 176 ประเทศทั่วโลก เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อของประเทศต่าง ๆ โดยดัชนีดังกล่าวจะประเมินจากดัชนีย่อย 3 กลุ่ม คือ 1.ดัชนีย่อยด้านการเข้าถึงไอซีที (Access sub-index) 5 ตัว 2.ดัชนีย่อยด้านการใช้งานไอซีที (Use sub-index) 3 ตัว และ 3.ดัชนีย่อยด้านทักษะความสามารถด้านไอซีที (Skills sub-index) 3 ตัว ผลปรากฏว่า ประเทศไทยขยับอันดับดีขึ้นโดยอยู่ในอันดับ 78 ของโลก จากเดิมเมื่อปี 2559 อยู่ที่อันดับ 82

นายฐากร กล่าวว่า การที่อันดับของประเทศไทยในปี 2560 ขยับขึ้นจากปี 2559 เป็นผลจากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่และการเปิดให้บริการ 3G/4G ครอบคลุมการให้บริการ ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ค่าดัชนีที่ใช้ในการประเมินเพิ่มขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินการในปี 2561 ภายใต้นโยบายของรัฐบาล เมื่อโครงการ USO เพื่อให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ และโครงการUSO เพื่อให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นห่างไกล ของสำนักงาน กสทช. รวมทั้งโครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการแล้วเสร็จ ประชาชนในพื้นที่ 74,000 กว่าหมู่บ้าน จะเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นอกจากนี้ กสทช. จะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง รวมถึงการดำเนินการเพื่อสนับสนุน IoT (Internet of Things) ตามที่ กสทช. ได้ประกาศให้ใช้คลื่นเพื่อรองรับการใช้งานด้านนี้แล้ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงไอซีทีได้มากยิ่งขึ้น

นายฐากร กล่าวว่า ความท้าทายของประเทศไทยที่จะต้องดำเนินการ นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนแล้ว กสทช. จะพัฒนาทักษะด้านการใช้งานไอซีทีของประชาชน ทั้งนี้เมื่อศูนย์ USO NET ของ กสทช. เริ่มเปิดให้บริการจะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อให้ความรู้ในการใช้งานกับประชาชน รวมทั้งโครงการเพื่อฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านการใช้งานไอซีทีให้กับประชาชนทั่วประเทศจำนวนจำนวน 500,000 คน ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของแผน USO

“ผมเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดจะส่งผลให้ดัชนีย่อยทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งดัชนีย่อยด้านการเข้าถึงไอซีที (Access sub-index) ดัชนีย่อยด้านการใช้งานไอซีที (Use sub-index) และดัชนีย่อยด้านทักษะความสามารถด้านไอซีที (Skills sub-index) พัฒนาขึ้น ส่งผลให้อันดับของประเทศไทยขยับขึ้น ในการประกาศการจัดอันดับดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของ ITU ครั้งต่อๆ ไป” นายฐากร กล่าว