ฟรีดอมเฮาส์ออกรายงานเมื่อวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน ประเมินสถานการณ์เสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก ในส่วนของไทย องค์กรส่งเสริมเสรีภาพพลเมืองแห่งนี้ ระบุว่า ในรอบปีที่ผ่านมา เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตตกต่ำทำสถิติใหม่ แนวโน้มยังคงดำดิ่งภายใต้รัฐบาลทหาร
เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของคนไทย ลดลงทุกปี เมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นปีรัฐประหาร ไทยทำคะแนน 62/100 ในปี 2015 ไทยทำคะแนน 63/100 ในปี 2016 ไทยทำคะแนน 66/100 และในปี 2017 ไทยทำคะแนน 67/100 (ตัวเลขยิ่งสูง เสรีภาพยิ่งน้อย)
รายงานชื่อ ‘Freedom on the Net’ ประจำปี 2017 ซึ่งศึกษาเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตใน 65 ประเทศทั่วโลก พบว่า รัฐบาลไทยปิดกั้นเนื้อหาหนักขึ้น และมีการออกกฎหมายรองรับมาตรการต่างๆ ซึ่งเคยประกาศใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ในปี 2017 สื่อในประเทศไทยมีสถานะ ไม่เสรี เช่นเดียวกับในปี 2016 โดยเสรีภาพลดระดับลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและบล็อกเกอร์ และมีการปิดกั้นเนื้อหามากขึ้น ทั้งนี้ ค่าคะแนนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต (FOTN Score) ของไทยอยู่ในสถานะ ไม่เสรี ติดต่อกันทุกปีนับแต่ปี 2014 ที่เกิดการรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน ไทยออกกฎหมายที่ล้าหลังลิดรอนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต และลดทอนความเป็นอิสระของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ผ่านสภาชุดแต่งตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2017 ฉบับเดิมเคยใช้ดำเนินคดีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้สื่อข่าว และนักกิจกรรมหลายราย เนื่องจากคำจำกัดความถ้อยคำที่คลุมเครือ ฉบับใหม่ยิ่งคลุมเครือหนักขึ้นไปอีก
บทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งโซเชียลมีเดียที่เป็นสื่อกลาง เช่น เฟซบุ๊ก ขอให้ลบเนื้อหา อาจนำไปสู่การถอดเนื้อหาครั้งใหญ่ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นการเข้าถึงและกำจัดเนื้อหาอีกด้วย
ขณะนี้ ไทยพยายามควบคุมการแสดงออกทางออนไลน์ เช่น ข้อเสนอให้ขึ้นทะเบียนนักข่าวและบล็อกเกอร์ รายงานบอกว่า วิธีเช่นนี้จะทำให้ข้อมูลและความเห็นทางออนไลน์ขาดความหลากหลาย
ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของไทยในปี 2017 ตกต่ำลง โดยมีสถานะใกล้เคียงกับอียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน และบาห์เรน.
Source: Freedom on the Net 2017/Freedom House
Photo: AFP (file)