ไม่พบผลการค้นหา
สมัชชาสหประชาชาติมีมติให้ทั่วโลกส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในระบบการเมืองแบบรัฐสภา แต่หลายประเทศไม่มีตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีในสภาเลย รวมถึงประเทศไทย

สหภาพรัฐสภา (IPU) ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐสภานานาประเทศ เผยแพร่รายงานการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในระบบการเมืองแบบรัฐสภาทั่วโลก พบว่าประเทศที่มีการเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมปฏิบัติหน้าที่ในสภามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ สวีเดน เอกวาดอร์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ในสภาตั้งแต่ 10.1-12.3 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรหรือ 'สภาล่าง' ทั้งหมด

ประเทศที่ติดอันดับรองลงมา ได้แก่ อันดอร์รา อิตาลี มาเซโดเนีย ตูนีเซีย เดนมาร์ก และเอธิโอเปีย ซึ่งมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ในสภาล่างอยู่ที่ระหว่าง 6.1-7.1 เปอร์เซ็นต์จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมดในสภา ส่วนประเทศที่ไม่มีคนรุ่นใหม่ในสภาล่างเลย มีจำนวนทั้งหมด 39 ประเทศ รวมถึงไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ กัมพูชา มาเลเซีย มองโกเลีย และสหรัฐอเมริกา ที่อยู่ในกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน

ขณะที่อินโดนีเซียและเมียนมามีอันดับที่ดีกว่าไทยและประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียน โดยอินโดนีเซียมีสัดส่วน ส.ส.ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสภาล่างคิดเป็น 2.9 เปอร์เซ็นต์ของ ส.ส.ทั้งหมด และเมียนมามี ส.ส.รุ่นใหม่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ของ ส.ส.ในสภาล่างทั้งหมด

ส่วนประเทศที่มีคนรุ่นใหม่อยู่ในวุฒิสภาหรือสภาสูงมากที่สุด 8 อันดับแรก ได้แก่ ภูฏาน เคนยา ตรินิแดดและโทบาโก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ไอร์แลนด์ สเปน และเมียนมา 

สภายุโรป

ไอพียูระบุว่าได้สำรวจข้อมูลประเทศสมาชิก 128 ประเทศทั่วโลกระหว่างปี 2010-2016 เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลแต่ละปี และนิยาม 'คนรุ่นใหม่' ว่าเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี ซึ่งแตกต่างจากนิยามของสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดช่วงอายุของคนรุ่นใหม่ว่าอยู่ระหว่าง 15-24 ปี แต่กรณีของไอพียูได้แบ่งเกณฑ์คนรุ่นใหม่เป็น 3 ช่วงอายุ ได้แก่ 30+ 40+ จนถึงอายุ 45 ปี

รายงานของไอพียูครั้งล่าสุดถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าหลายประเทศสนับสนุนและยอมรับการดำรงอยู่ของ ส.ส.และ ส.ว.ที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น เห็นได้จากที่มีการเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องอายุขั้นต่ำในการลงสมัครรับเลือกตั้ง การกำหนดโควตาคนรุ่นใหม่ในสภา รวมถึงสัดส่วนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับเลือกหรือได้รับแต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ข้อกังวลประการหนึ่งก็คือสัดส่วนผู้ชายยังคงมากกว่าผู้หญิงในทุกช่วงอายุ จึงควรจะส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในสภามากขึ้น

นอกจากนี้ ในรายงานยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า คนรุ่นใหม่ที่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานรัฐบาล หรือสถาบันที่ได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมกับการทำงานของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ควรจะมีการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันได้มีโอกาสทำหน้าที่ตรวจสอบหรือเฝ้าระวังการทำงานในระบบรัฐสภาเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีการถ่วงดุลและความโปร่งใส 

อ่านเพิ่มเติม: