การประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้ไทยเราเป็นเจ้าภาพก็จริง แต่เงี๊ยบเงียบ แต่ถึงอย่างนั้นในความเงียบ ก็ยังมีดราม่าเล็กๆ แฝงอยู่ เพราะชุดประจำชาติของนางงามไทยล่าสุดที่ประกาศออกมาในชื่อ "Chang the Icon of Siam" มีทั้งคนชอบ และไม่ชอบ บ้างก็บอกว่าเฉยๆ ไม่เด้งไม่ปัง แต่บ้างก็ว่าชัดดีออก ไท๊ยไทยเห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่าไทยเลยนะเนี่ย
มีโอกาสได้อ่านแนวคิดของการออกแบบชุดที่แจกเป็น Press ให้กับนักข่าวมานิดหน่อย หลักๆ คือมองว่าช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ แถมยังมีกลไกกางหัว-กางงวงช้าง ออกมาจากชุดราตรีได้ด้วย ดังนั้น จะบอกว่าเรียบก็ไม่เรียบซะทีเดียว พอมีลูกเล่นอยู่บ้าง แม้ไม่จี๊ดเท่า "ตุ๊กตุ๊กไทยแลนด์" ก็เหอะ
ในแง่การสื่อสารว่า "ชุดนี้คือไทยนะ" ช้างก็น่าจะผ่านในระดับนึง เพราะมีอานิสงค์จากการท่องเที่ยว ฝรั่งมังค่าเคยเห็นกันมาบ้าง แต่เท่าที่อ่านดูใน Press จะเห็นว่าคนออกแบบเขายังใส่แนวคิดเรื่องช้างในฐานะสิ่งที่ไทยใช้เชื่อมสัมพันธ์กับชาติต่างๆ มาตั้งแต่อดีต ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานในเอกสารต่างๆ อยู่ไม่น้อย
"ลาลูแบร์" บันทึกถึงช้างไว้อย่างยืดยาวหลายหน้า และยังบอกอีกว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่งลูกช้าง 3 เชือก ลงเรือไปให้พระเจ้าหลานเธอของพระเจ้าหลุยส์ ส่วน "ออกพระศักดิสงคราม" (เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์บัง) นายทหารฝรั่งเศสบันทึกว่า ตอนเข้าวังครั้งแรก เขาถูกต้อนรับด้วยแถวช้างขนาบซ้ายขวา
ภาพช้างในโรงเลี้ยง และตู้โชว์อาวุธและงาช้างของสยาม มีเครื่องหมาย "รูปตราช้าง" ในมหกรรมยูนิเวอร์แซล ณ พระราชวังช็อง เดอ มาส์ (ภาพจากหนังสือราชอาณาจักรสยาม ของพระสยามธุรานุรักษ์ (แอ็ม อา เดอ เกรอัง))
ยิ่งเมื่อถึงสยามยุคเปิดรับอายธรรมตะวันตก เรายิ่งเห็นช้างในบทบาท "แบรนด์แอมบาสเดอร์" มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2410 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามได้รับเชิญให้เข้าร่วมในมหกรรมยูนิเวอร์แซล จัดแสดงนิทรรศการศิลปหัตถกรรมของประเทศ ที่พระราชวังช็อง เดอ มาส์ ประเทศฝรั่งเศส โดย "พระสยามธุรานุรักษ์" (แอ็ม อา เดอ เกรอัง) ราชทูตฝรั่งเศสที่มาเจริญไมตรีกับสยาม บันทึกว่าครั้งนั้นห้องนิทรรศการเล็กๆ ของเรามี "รูปตราช้าง" เป็นเครื่องหมาย โดยของที่จัดแสดงจำนวนมากมายนั้น มีสิ่งที่เกี่ยวกับช้างหลายอย่าง เช่น งาช้าง อานสำหรับช้าง และกริชของควาญช้าง นอกจากนี้ รัชกาลที่ 4 ยังพระราชทานช้าง 2 เชือก (ช้างพลายและช้างพัง) ซึ่งทั้งคู่ถูกนำไปเลี้ยงในสวนจาแด็ง เคปล็องต์ (สวนพฤกษศาสตร์)
ดังนั้น การที่บอกว่าช้างเป็นตัวแทนเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างชาติ จึงไม่ได้อยู่ที่มิติการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่อยู่ที่มิติทางประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งอันนี้ถือว่า Chang the Icon of Siam ก็พยายามหยิบต้นทุนประวัติศาสตร์มาใช้อยู่
เอาจริงๆ ชุด Chang the Icon of Siam ก็สวยดีในระดับนึง แต่ก็นั่นแหละไม่มีอะไรที่จะทำให้คนชอบไปซะทุกคนได้ นั่นจึงทำให้มีเสียงบ่นๆ น้องช้างอยู่บ้าง ดูอย่างชุด "ตุ๊กตุ๊กไทยแลนด์" ที่ MUT เปิดตัวมาตอนแรกๆ สิ นั่นก็โดนรุมจวกมิใช่น้อยเหมือนกัน ดังนั้น เรื่องดราม่าชุดประจำชาติจึงเหมือนอีเวนต์ประจำปีในโลกโซเชียล ไม่มีซะเลยเดี๋ยวจะกร่อย
แต่สิ่งที่อาจเป็นดราม่าเล็กๆ แต่ต้องคำนึงให้มากๆ ก็คือ บ้านเราให้ความสำคัญกับช้างขนาดส่งเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ประเทศขนาดนี้ แต่สื่อต่างประเทศรวมถึงองค์กรต่างๆ ก็ยังให้ความสนใจเรื่องการคุณภาพชีวิตช้างในไทย ด้วยปัญหาหลายประการ เช่น การใช้ช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ การล่าช้างป่า
ถ้าการ Present ชุดประจำชาติ จะมีประเด็นรณรงค์เหล่านี้แทรกไปด้วยก็น่าจะเรียกความสนใจ และโชว์ทัศนะเกี่ยวกับปัญหาที่โลกให้ความสำคัญได้
ฝากไว้ให้คริส ในฐานะแฟนนางงาม (ห่างๆ)
เผื่ออยากอ่านต่อ
สยามธุรานุรักษ์ (แอ็ม อา เดอ เกรอัง) , พระ, ราชอาณาจักรสยาม, นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2543.
จดหมายเหตุฟอร์บัง, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2560.
จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.