นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิต โดย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สำรวจความสุขและทัศนคติวัยรุ่นต่อวันวาเลนไทน์ปี 2561 พบว่า ในด้านของความสุข วัยรุ่น 2 ใน 3 มองว่าชีวิตตนเองมีความสุข มากกว่า 70% รู้สึกเป็นสุขในการช่วยเหลือผู้อื่น และมั่นใจว่า ชุมชนที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัย
ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวจัดทำในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียน อายุ 11-19 ปี จำนวน 2,100 คน จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
อีกทั้งยังพบด้วย ว่าวัยรุ่นเกือบครึ่งไม่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาชีวิต ไม่มีความภูมิใจในตนเอง และรู้สึกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต โดย 18.64% รู้สึกว่าการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวทำให้มีความสุข
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ พบว่า 39.03% มองว่า วาเลนไทน์ เป็นวันแห่งความรักที่คนรักแสดงความรักให้กัน ในขณะที่ 32.89% ไม่ได้ให้ความสนใจ และ 11.78% มองว่า เป็นวันที่ผู้ใหญ่ชอบมาเตือนเรื่องความรักจนเกินเหตุ
ทั้งนี้ วัยรุ่น 41.50% เคยมีแฟนแล้ว และในจำนวนนี้ 95.74% เคยมีแฟนมาแล้วอย่างน้อย 1-5 คน และมีมากที่สุด 20 คน ส่วนอายุน้อยที่สุดที่มีแฟนครั้งแรก คือ 8 ขวบ มากที่สุด 17 ปี สำหรับความคิดเห็นในส่วนของเหตุผลที่อยากมีแฟน ครึ่งหนึ่ง ผูกความสุขของตนเองไว้กับการมีแฟน มองว่า มีแฟนแล้วจะไม่เหงา รู้สึกเติมเต็ม
และเมื่อไม่สบายใจ 51.30% จะใช้วิธีอยู่เงียบๆ คนเดียว พยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง รองลงมา 43.45% เลือกระบายความรู้สึก โดยเฉพาะกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่
"มีความน่าเป็นห่วงว่า วิธีคิดและมุมมองการใช้ชีวิตวัยรุ่นที่นำความสุขและคุณค่าของตนเองไปผูกติดกับผู้อื่น เมื่อเกิดปัญหาความรัก จะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ ปัญหาสุขภาพจิต ซึมเศร้า หรือปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมตามมาได้" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังเห็นสัญญาณที่ดีว่า การใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเป็นกิจกรรมแรกที่วัยรุ่นเลือกทำให้ตนเองมีความสุข ตลอดจนรู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นและอยู่อาศัยในชุมชนที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ใหญ่รอบตัววัยรุ่น ทั้งพ่อแม่ และครูสามารถร่วมมือกันป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าการใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำร้ายตนเอง หรือการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นไทยได้ ด้วยการใส่ใจให้เวลากับวัยรุ่น และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะชีวิต และการเห็นคุณค่าของตนเองให้กับพวกเขามากยิ่งขึ้น
5 เรื่อง วัยรุ่นปรึกษาสายด่วนสุขภาพ
แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แนวโน้มมีจำนวนวัยรุ่นที่โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และเดินเข้ามารับการปรึกษาคลินิกจิตเวชวัยรุ่นมากขึ้นชัดเจน
โดยเรื่องที่ปรึกษา 5 อันดับแรก เป็นปัญหาความเครียด ความรัก ปัญหาเพศ สุขภาพจิต และปัญหาครอบครัว สะท้อนว่าสังคมควรเร่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะชีวิตวัยรุ่นมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมการมองเห็นคุณค่าของตนเอง การคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การจัดการอารมณ์และความเครียด ตลอดจนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกันหลายปัญหาวัยรุ่นในปัจจุบันได้ ขณะที่ ผู้ปกครองและครูจึงจำเป็นต้องใส่ใจ ให้เวลา และเป็นที่ปรึกษาให้กับวัยรุ่น
หรือแนะนำให้ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโปรแกรมการเสริมสร้างทักษะชีวิตวัยรุ่น ซึ่งสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถขอรับการสนับสนุนสื่อ ได้ที่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โทร. 02-248-8988
ผลสำรวจวธ.-สวนดุสิตโพล ชี้ 58.61% ให้ความสำคัญกับวาเลนไทน์เหมือนทุกปี
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรมฯ และสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนต่อ 'วันแห่งความรัก' หรือ 'วันวาเลนไทน์' จากกลุ่มตัวอย่าง 2,428 คน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า เด็ก เยาวชนและประชาชนส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับวันแห่งความรัก (วาเลนไทน์) ในปีนี้ 58.61% พอๆ กับทุกปีที่ผ่านมา รองลงมา 19.65% ไม่เคยให้ความสำคัญเลย 12.46% ให้ความสำคัญมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และ 9.28% ให้ความสำคัญน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเยาวชนและประชาชนว่า บุคคลที่เด็ก เยาวชนและประชาชนส่วนใหญ่ อยากมอบความรักหรือส่งความรู้สึกที่ดีให้ในวันวาเลนไทน์มากที่สุด พบว่า 66.20% คือพ่อแม่/ผู้ปกครอง รองลงมา 62.16% คือคนรัก/แฟน/คู่สมรส/คู่ชีวิต 28.98% เป็นเพื่อน และ 24.88% คือ ครูอาจารย์/ผู้มีพระคุณ 15.22% บุตร/หลาน/ญาติ เป็นต้น
ส่วนสิ่งที่เยาวชนและประชาชน อยากมอบให้แฟน/คนรัก/พ่อแม่/ครอบครัวใน วันวาเลนไทน์ พบว่า 73.02% บอกรักด้วยคำพูด รองลงมา 71.48% ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน 64.25% ให้ดอกกุหลาบ และ 58.11% ไปเที่ยวด้วยกัน 46.53% มอบสิ่งของแทนใจ เช่น สร้อย แหวน เงิน ทอง 45.72% บอกรักผ่านสื่อโซเซียล และ 33.21% ให้ช็อคโกแลต เป็นต้น
สำหรับคำถามว่า นอกจากพ่อแม่แล้ว คู่รักต้นแบบในความคิดของเด็ก เยาวชนและประชาชนคิดว่าเป็นใคร พบว่า คือพ่อรอง-แม่ทุม ฉัตรชัย-สินจัย เคน-หน่อย เจ-ปิ่น หมอโอ๊ค-โอปอล เป็นต้น ส่วนคู่รักดาราวัยรุ่น อาทิ ตูน–ก้อย เวย์-นานา ชมพู่-น็อต มาร์กี้–ป๊อก กุ๊บกิ๊บ–บี้ ณเดช-ญาญ่า เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าในความคิดของเยาวชน ประชาชน รูปแบบความรักอย่างสร้างสรรค์ คือ 65.98% มองว่าให้เกียรติกัน รองลงมา 51.36% ชวนทำกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน อาทิ ชวนกันเรียน ทำบุญ ช่วยเหลือสังคม เป็นจิตอาสา 44.84% คบเป็นแฟนกันอยู่ในสายตาและการรับรู้ของผู้ใหญ่ 37.85% ใช้เวลาศึกษาดูใจกันนาน ๆ ไม่ชิงสุกก่อนห่าม เป็นต้น
ทั้งนี้ สอบถามความคิดเห็นในประเด็นว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ หากแฟนหรือคนรักขอมีเพศสัมพันธ์ด้วยในวัยที่ไม่พร้อม มีวิธีหรือจะใช้คำพูดปฏิเสธอย่างไร ตัวอย่างคำพูดที่จะใช้ปฏิเสธ อันดับ 1 ปฏิเสธไปตรงๆว่า ยังไม่พร้อม/ยังไม่ถึงเวลา อันดับ 2 พูดคุยดีๆ มีเหตุมีผล อันดับ 3 บอกให้รอก่อนได้ไหม มันไม่ดี ไม่เหมาะสม อันดับ 4 ชวนทำกิจกรรมอย่างอื่น และไม่อยู่ในที่ลับตา 2 ต่อ 2 อันดับ 5 ควรให้เกียรติกัน เห็นแก่พ่อแม่ ไม่อยากให้ท่านเสียใจ อันดับ 6 ควรรอให้เราแต่งงานกันก่อน อันดับ 7 ถ้าห้ามไม่ได้ควรป้องกัน เป็นต้น
ขณะที่เมื่อสอบถามว่า เด็ก เยาวชนและประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าวัยรุ่นยุคใหม่ควรแสดงออกถึงความรัก/การบอกรักตามวิถีวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ดีอย่างไร พบว่า 65.12% ให้เกียรติซึ่งกันและกัน 62.77% ซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียว 55.71% รักนวลสงวนตัว 55.58% คบกันอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ 44.23% ไม่ชิงสุกก่อนห่าม และ 24.90% เข้าตามตรอก ออกตามประตู
โทรศัพท์-ไลน์-เฟซบุ๊ก สื่อรักยุคยอดนิยมยุคดิจิทัล
ส่วนเมื่อถามว่า เด็ก เยาวชนจะใช้ช่องทางในการสื่อสารกับแฟนและบอกรักแฟนในวันวาเลนไทน์ปีนี้ พบว่า 64.69% บอกรักแฟนทางโทรศัพท์ 60.46% ผ่านไลน์ (Line) 51.77% เฟซบุ๊ก 29.95% ทางแชตบ็อกซ์ในเฟซบุ๊ค และ 26.48% อินสตาแกรม เป็นต้น นอกจากนี้ สอบถามว่า ประโยคหรือคำพูดที่จะใช้บอกรักในวันวาเลนไทน์ปีนี้ พบว่า คำและประโยคที่จะบอกรัก อาทิ รักนะ รักนะจุ๊บๆ รักนะตัวเธอ ฉันรักเธอ ฉันชอบเธอ เค้ารักตัวเองนะ เป็นแฟนกันนะ ซารางเฮโย Love you baby เป็นต้น
ทั้งนี้ สอบถามความคิดเห็นเด็กเยาวชนและประชาชน อยากให้ ภาครัฐและกระทรวงวัฒนธรรมจัดกิจกรรม เพื่อสร้างค่านิยมที่ดีในวันแห่งความรัก (วาเลนไทน์) อย่างไร พบว่า ต้องการให้จัดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ กิจกรรมที่ส่งเสริมการแบ่งปันความรัก การแสดงออกกับคนรักหรือคนในครอบครัว กิจกรรมคู่รัก /ประกวดคู่รัก /รูปภาพสื่อรัก กิจกรรมคู่รักชวนกันเที่ยว เชิญชวนให้เที่ยวตามสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ชวนกันเข้าวัดทำบุญ /กิจกรรมที่สร้างกุศล ช่วยเหลือผู้อื่น /ทำความดีให้แก่สังคม/ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่บ้านเด็กกำพร้ากิจกรรมการบอกรัก /การแสดงความรักแบบวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมความรักที่สร้างสรรค์ ให้ความรู้ รู้วิธีการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และให้ความรู้เรื่องหลักการใช้ชีวิตคู่ให้ยั่งยืน เป็นต้น